หน่วยการเรียนรู้ที่ ๓

บทที่ 3
การวางแผนประกอบอาชีพแบบพอเพียง
สาระสำคัญ
การวางแผนการประกอบอาชีพตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการกำหนดทิศทาง ขอบเขต วัตถุประสงค์ เป้าหมายและวิธีการประกอบอาชีพ โดยมีกระบวนการที่ชัดเจนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และความต้องการด้านอาชีพของตนเอง โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ผู้เรียนจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องการจัดทำโครงการและแผนงานประกอบอาชีพ เพื่อพัฒนาการประกอบอาชีพให้ประสบความสำเร็จ และมีความรู้ ความเข้าใจ การประกอบอาชีพบนฐานความรู้ และมีคุณธรรมในการประกอบอาชีพ
ผลการเรียนที่คาดหวัง
1. ผู้เรียนสามารถนำความรู้จากการเรียนไปใช้ในการวางแผนการประกอบอาชีพ ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2. ผู้เรียนสามารถจัดทำโครงงานการประกอบอาชีพ ตามแผนงานที่วางไว้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
3. ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ การประกอบอาชีพบนฐานความรู้ คู่คุณธรรม
ขอบข่ายเนื้อหา
เรื่องที่ 1 การวางแผนการประกอบอาชีพ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เรื่องที่ 2 โครงการและแผนงานประกอบอาชีพ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
20
เรื่องที่ 1 การวางแผนการประกอบอาชีพ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
การประกอบอาชีพ คือการทำมาหากินของมนุษย์ เป็นการแบ่งหน้าที่ การทำงานของคนในสังคม และทำให้ดำรงชีวิตในสังคมได้ บุคคลที่ประกอบอาชีพจะได้ค่าตอบแทน หรือรายได้ที่จะนำไปใช้จ่ายในการดำรงชีวิต และสร้างมาตรฐานที่ดีให้แก่ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ ความจำเป็นของการประกอบอาชีพมี ดังนี้
1. เพื่อตนเอง การประกอบอาชีพทำให้มีรายได้มาจับจ่ายใช้สอยในชีวิต
2. เพื่อครอบครัว ทำให้สมาชิกของครอบครัวได้รับการเลี้ยงดูทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
3. เพื่อชุมชน ถ้าสมาชิกในชุมชนมีอาชีพและมีรายได้ดีจะส่งผลให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ดีขึ้น อยู่ดีกินดี ส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและพัฒนาตนเองได้
4. เพื่อประเทศชาติ เพื่อประชากรของประเทศมีการประกอบอาชีพที่ดี มีรายได้ดี ทำให้มีรายได้ที่เสียภาษีให้กับรัฐบาลมีรายได้ไปใช้บริหารประเทศต่อไป
มนุษย์ไม่สามารถผลิตสิ่งต่างๆมาสนองความต้องการของตนเองได้ทุกอย่างจำต้องมีการแบ่งกันทำและเกิดความชำนาญ จึงทำให้เกิดการแบ่งงานและแบ่งอาชีพต่าง ๆ ขึ้น สาเหตุที่ต้องมีการแบ่งอาชีพคือ การที่มนุษย์มีความรู้ความสามารถของแต่ละคนแตกต่างกัน มีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศที่แตกต่างกัน และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน การประกอบอาชีพ เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตเรื่องหนึ่ง เนื่องจากทุกคนต้องมีอาชีพถึงจะธำรงชีวิตอยู่ได้ แต่จะเป็นอาชีพแบบใด ทำอะไร ทำอย่างไรให้มีชีวิตอยู่ได้ หรือทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จในอาชีพที่ทำอยู่ ก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนการประกอบอาชีพนั้น ๆ การประกอบอาชีพให้ประสบความสำเร็จตามความต้องการ จำเป็นต้องมีการวางแผนการประกอบอาชีพที่ชัดเจน เป็นระบบ
การวางแผน เป็นเรื่องของการกำหนดความต้องการ วิธีการดำเนินการ และคาดหมาย ผลการดำเนินการในอนาคต โดยใช้หลักวิชาการ เหตุผล มีข้อมูลตัวเลขประกอบ มีการเสนอปัญหาเพื่อขจัดอุปสรรคที่จะมาถึงเป้าหมายข้างหน้าได้ ทำให้ผู้ปฏิบัติรู้ได้ว่าจะทำอะไร ที่ไหนเมื่อใด กับใครทำอย่างไร และทำเพื่ออะไรได้อย่างชัดเจน ซึ่งนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติงานที่ถูกต้องและได้ผล
ดังนั้น การวางแผนการประกอบอาชีพ จึงเป็นการกำหนดทิศทาง ขอบเขต วัตถุประสงค์ เป้าหมายและวิธีการประกอบอาชีพ โดยมีกระบวนการที่ชัดเจนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และความต้องการด้านอาชีพของตนเอง การประกอบอาชีพมีหลายรูปแบบ หลายวิธีการ หลากหลายแนวทางที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในอาชีพนั้นๆ
21
การวางแผนการประกอบอาชีพ ก็เหมือนกับ เสาไฟที่ให้แสงสว่างตามท้องถนนที่ผ่านไปมา เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางตลอดเส้นทางนั้น การวางแผนการประกอบอาชีพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง การจะประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพได้ ก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนการประกอบอาชีพที่ถูกต้อง และการที่จะวางแผนการประกอบอาชีพ ควรจะต้องศึกษา ดังนี้
1. การรู้จักตนเอง การเลือกอาชีพดูเหมือนจะเป็นการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของคนเรา เพราะนั่นคือตัวกำหนดรายได้ที่จะเกิดขึ้น จากความสามารถของเราเอง และไม่น่าเชื่อว่าหลายคนยอมทนอยู่กับอาชีพที่ตนเองเกลียดได้ หรือไม่ได้ใช้ความสามารถที่แท้จริงในการทำงานเลย เพราะพวกเขาไม่เคยเกิดความสงสัยว่า จริงๆแล้วตนเองต้องการอะไร “การขาดความเชื่อมั่นในตนเอง คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนบางคนเลือกทำงานที่ห่างไกลจากความสามารถที่แท้จริงของตนเอง และเป็นสาเหตุให้คนย้ายตำแหน่งงานของตนเอง หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเราเลือกเปลี่ยนอาชีพทั้งที่ก้าวไปได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น”
การสร้างความเชื่อมั่นให้ตนเอง ควรเริ่มต้นจากการค้นหาตนเองว่า “เราเป็นใคร” “เราอยากทำอะไร” “เราทำอะไรได้ดี” “เราทำอะไรบ่อยที่สุด” และคำตอบที่ได้กลับมาจะช่วยให้เราทราบว่าตนเองมีทักษะความสามารถ ความสนใจ ค่านิยม ความชอบส่วนตัว และรูปแบบการทำงานในด้านใด และในช่วงที่กำลังสำรวจตัวตนของตนเองนั้น อย่าลืมบอกเรื่องนี้ให้คนในครอบครัว เพื่อนสนิทของเราทราบ เพราะพวกเขาอาจช่วยให้คุณค้นพบตัวตนของตนเองได้เร็วขึ้น ซึ่งคนเหล่านั้นต้องเป็นคนที่รู้จักคุณมาเป็นเวลาหลายปี จึงจะสามารถบอกได้ว่าคุณมีจุดอ่อน-จุดแข็งในด้านใดบ้าง หรือทำแบบทดสอบบุคลิกภาพหรือความถนัด แล้วใช้ประโยชน์จากคำแนะนำที่ได้จากการทำแบบสำรวจ “การตอบคำถามที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพอาจทำให้ทราบข้อมูลของตนเอง ซึ่งเราไม่เคยทราบมาก่อน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการประกอบอาชีพสามารถช่วยให้มองเห็นความสามารถในส่วนนั้นๆได้”
2. การศึกษาการประกอบอาชีพ ปัจจุบันนี้มีอาชีพต่างๆเกิดขึ้นหลายพันอาชีพ หากขาดแผนการทำงาน อาจก่อให้เกิดการเลือกอาชีพที่ไม่เหมาะสมกับตนเองได้ หากรู้จักประเมินความสามารถของตนเองอย่างซื่อสัตย์ โอกาสที่จะเลือกอาชีพได้อย่างเหมาะสมย่อมสูงตามไปด้วย ควรเลือกประกอบอาชีพโดยยึดจากความรู้สึกภายในเป็นหลัก เลือกงานที่เหมาะสมกับตนเองเท่านั้น วิธีที่จะช่วยให้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพที่เหมาะสมกับตนเองได้ มี 2-3 วิธี นั่นก็คือ อ่านรายละเอียดอาชีพต่างๆในประกาศรับสมัครงาน หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต เพราะอินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งข้อมูลที่สามารถให้ข้อมูลทุกเรื่องได้อย่างน่าอัศจรรย์ นอกจากนี้ยังสามารถหาข้อมูลจากประสบการณ์ของผู้อื่นได้ด้วย เช่น บทสัมภาษณ์ของผู้อื่นที่ประกอบอาชีพที่คุณสนใจ หรือสอบถามข้อมูลการทำงานจากผู้อื่น ซึ่งข้อมูลการสัมภาษณ์ เหล่านี้อาจจะช่วยให้คุณทราบสภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับการทำงานนั้นๆอีกด้วย
22
3. การตัดสินใจ เป็นขั้นตอนสำคัญหลังจากได้จับมือกับตนเอง เพื่อมองหางานที่เหมาะสมกับตนเองแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญ กลยุทธ์หนึ่งที่จะทำให้สามารถตัดสินใจได้ นั่นก็คือ การร่างความต้องการของตนเองภายใน ระยะเวลาหนึ่งปีลงในกระดาษ จากนั้นก็เพิ่มเป็น 5 ปี หรือ 10 ปี ต่อไป อีกวิธี คือ เปรียบเทียบ ข้อดีและข้อเสียของการทำงาน สำหรับสองหรือสามอาชีพที่ตนเองสนใจมากที่สุด และเลือก อาชีพที่ตนเองคิดว่าเหมาะสมที่สุด
เมื่อตัดสินใจเลือกแล้ว ก็ถึงเวลาทดสอบสิ่งที่เลือกเอาไว้ ต้องค้นหาโอกาสให้ตนเองอีกครั้ง ยอมรับการฝึกงาน เพื่อโอกาสที่จะได้งานในอนาคต หรือเลือกเรียนเกี่ยวกับการทำงานนั้นๆ เพิ่มเติม รวมทั้งหาทางอบรมหรือฝึกปฏิบัติงานเกี่ยวกับอาชีพที่ตนเองสนใจนั้นด้วย
การเตรียมตัวอย่างดี ย่อมดีกว่าการสละสิทธิ์โดยไม่ได้ลองทำอะไรเลย การทำงานชั่วคราว หรืองานอาสาสมัครเป็นการสั่งสมประสบการณ์ในงานทำงานอย่างช้าๆ เป็นสิ่งจำเป็น สำหรับการทำงานที่มีคุณภาพ ซึ่งจะกลายเป็นที่พอใจของนายจ้างต่อไป นอกจากนี้ควรเป็น สมาชิกชุมชุมที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการทำงาน เพราะจะช่วยให้สามารถหาคำแนะนำได้จาก สมาชิกท่านอื่นๆ ในการค้นหางาน คำแนะนำ รวมทั้งเป็นบุคคลอ้างอิงให้เราได้อีกด้วย ก็เหมือนกับ คุณใช้นิ้วจุ่มลงไปในน้ำเพื่อทดสอบ คุณจะพบว่าตนเองได้ประสบการณ์ต่างๆ มากมายโดยไม่มีข้อผูกมัดทั้งด้านเวลา และความมุ่งมั่น หากคุณค้นพบว่า อาชีพที่คุณเลือก ไม่ได้เป็นไปตามที่ตนเองคาดหวังไว้ ก็สามารถหาตัวเลือกใหม่ได้ จนกว่าจะพบสิ่งที่ตนเอง ต้องการ
แต่การวางแผนการประกอบอาชีพก็ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดสำหรับเรื่องนี้ กิจกรรมต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามความเปลี่ยนแปลงในตัวคุณ “คุณต้องรู้จักการยืดหยุ่น และพร้อมที่จะพัฒนาแผนการของตนเอง เพื่อค้นหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับตนเอง รวมทั้งมองหาโอกาสสร้างความก้าวหน้าให้ตนเองอยู่เสมอ” ในเรื่องของการทำงาน การวางแผนย่อมทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่าการ การนิ่งเฉย
การประกอบอาชีพ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การประกอบอาชีพอิสระ มีลักษณะเป็นเจ้าของกิจการ ดำเนินการบริหารจัดการด้วยตนเองในรูปของกลุ่มอาชีพ ห้างหุ้นส่วน บริษัท ฯลฯ การประกอบการหรือเจ้าของต้องมีความตั้งใจ อดทน ทุ่มเท ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เพื่อให้กิจการดำเนินไปจนเกิดความมั่นคงประสบความสำเร็จ การประกอบอาชีพอิสระยังสามารถแบ่งเป็น
1.1 อาชีพอิสระด้านการผลิต ผู้ประกอบอาชีพต้องมีกระบวนการ หรือขั้นตอนการผลิตหรือการแปรรูปสินค้าออกไปจำหน่ายในท้องตลาด ในลักษณะขายส่งหรือขายปลีก เช่น การทำอาหาร การทำสวนผลไม้ การเลี้ยงปลา ฯลฯ
23
1.2 อาชีพอิสระด้านการให้บริการ เป็นอาชีพที่นิยมกันอย่างแพร่หลายตามสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิต ทำให้คนที่มีเวลาว่างน้อยหันมาพึ่งเทคโนโลยีประกอบกับการประกอบอาชีพงานการให้บริการมีความเสี่ยงน้อย การลงทุนต่ำ การประกอบอาชีพด้านนี้ปัจจุบันจึงแพร่หลาย เช่น บริการทำความสะอาด บริการซักรีดเสื้อผ้า บริการล้างรถยนต์ ซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า การทำนายโชคชะตา เป็นต้น
2. การประกอบอาชีพรับจ้าง เป็นการประกอบอาชีพโดยไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ แต่ต้องทำงานตามที่เจ้านายมอบหมาย ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน อาหาร ที่พักอาศัย และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ปัจจุบันสังคมไทยส่วนใหญ่นิยมเป็นลูกจ้าง เนื่องจากความรับผิดชอบมีจำกัดไม่เสี่ยงกับผลกำไรขาดทุน ซึ่งอาจทำงานในสถานประกอบการขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็ก หรือเป็นธุรกิจการผลิตหรือการบริการ เช่น โรงงานพนักงานขาย พนักงานบริษัท พนักงานธนาคาร พนักงานบัญชี เป็นต้น
การประกอบอาชีพของบุคคลทุกคน ย่อมมุ่งหวังให้ตนเองประสบความสำเร็จในอาชีพ หน้าที่การงานทั้งนั้น และแนวทาง วิธีการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ สามารถยึดเป็นหลักการ แนวทางในการประกอบอาชีพได้ทุกอาชีพ คือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
การประกอบอาชีพตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ควรยึดหลักในการปฏิบัติตน ดังนี้
1. ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการดำรงชีวิตอย่างจริงจัง ดังพระราชดำรัสว่า “ความเป็นอยู่ที่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องประหยัดไปในทางที่ถูกต้อง” ปฏิบัติได้ด้วยวิธีจดบันทึกหรือทำบัญชีครัวเรือน
2. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง สุจริต แม้จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีพก็ตาม ดังพระราชดำรัสที่ว่า “ความเจริญของคนทั้งหลายย่อมเกิดมาจากการประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพของตนเป็นหลักสำคัญ”
3. ละเลิกการแก่งแย่งประโยชน์ และแข่งขันกันในทางการค้าขายประกอบอาชีพแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรงดังอดีต ซึ่งมีพระราชดำรัสเรื่องนี้ว่า “ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุข ความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรมทั้งในเจตนา และการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น”
4. ใฝ่หาความรู้ ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางในชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยากครั้งนี้ โดยต้องขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้เกิดมีรายได้เพิ่มพูนขึ้นจนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ พระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ให้ความชัดเจนว่า “การที่ต้องการให้ทุกคนพยายามที่ จะหาความรู้ และสร้างตนเองให้มั่นคงนี้เพื่อตนเอง เพื่อที่จะให้ตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ก้าวหน้าที่มีความสุข พอมีพอกินเป็นขั้นหนึ่ง และขั้นต่อไป ก็คือให้มีเกียรติว่ายืนได้ด้วยตัวเอง”
5. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งยั่วกิเลสให้หมดสิ้นไป ทั้งนี้ด้วยสังคมไทยที่ล่มสลายลงในครั้งนี้ เพราะยังมีบุคคลจำนวนมิใช่น้อยที่ดำเนินการโดยปราศจากละอายต่อแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราโชวาทว่า “พยายามไม่ก่อความชั่วให้เป็นเครื่องทำลายตัวทำลายผู้อื่น
24
พยายามลด พยายามละความชั่วที่ตัวเองมีอยู่ พยายามก่อความดีให้แก่ตัวอยู่เสมอ พยายามรักษา และเพิ่มพูนความดีที่มีอยู่นั้นให้งอกงามสมบูรณ์ขึ้น” ทรงย้ำเน้นว่าคำสำคัญที่สุด คือ คำว่า “พอ” ต้องสร้างความพอที่สมเหตุสมผลให้กับตัวเองให้ได้และเราก็จะพบกับความสุข
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำมาเป็น แนวทางในการประกอบอาชีพได้ทุกอาชีพ เช่น อาชีพเกษตรกรรม อาชีพธุรกิจ ฯลฯ
เศรษฐกิจพอเพียงกับอาชีพเกษตรกรรม
อาชีพเกษตรกรรม ถือว่าเป็นอาชีพหลักและเป็นอาชีพสำคัญของประเทศ ประชากรของไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ยังประกอบอาชีพนี้อยู่ อาชีพเกษตรกรรมเกี่ยวข้องกับการผลิต และการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการทางด้านการเกษตร ผลผลิตทางการเกษตรนอกจากใช้ในการบริโภคแล้วยังใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตทางอุตสาหกรรมอีกด้วย ได้แก่ การทำนา การทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำริฯ ให้เกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีความแข็งแรงพอก่อนที่จะไปผลิตเพื่อการค้าหรือเชิงพาณิชย์ โดยยึดหลักการ “ทฤษฎีใหม่” 3 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1 มีความพอเพียง เลี้ยงตัวเองได้บนพื้นฐานของความประหยัดและขจัดการใช้จ่าย
ขั้นที่ 2 รวมพลังกันในรูปกลุ่ม เพื่อการผลิต การตลาด การจัดการ รวมทั้งด้านสวัสดิการ การศึกษา การพัฒนาสังคม
ขั้นที่ 3 สร้างเครือข่าย กลุ่มอาชีพและขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจ ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน และภาคราชการในด้านเงินทุน การตลาด การผลิต การจัดการและข่าวสารข้อมูล
ทฤษฎีใหม่เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการจัดพื้นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและมีชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีแบ่งพื้นที่เป็นส่วน ๆ ได้แก่ พื้นที่น้ำ พื้นที่ดินเพื่อเป็นที่นาปลูกข้าว พื้นที่ดินสำหรับปลูกพืชไร่นานาพันธุ์ และที่สำหรับอยู่อาศัย/เลี้ยงสัตว์ ในอัตราส่วน 3 : 3 : 3 : 1 เป็นหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้
1. มีการบริหารและจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็ก ออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร ซึ่งไม่เคยมีใครคิดมาก่อน
2. มีการคำนวณโดยหลักวิชาการ เกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะกักเก็บให้พอเพียง ต่อการเพาะปลูกได้ตลอดปี
3. มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบ สำหรับเกษตรกรรายย่อย 3 ขั้นตอน เพื่อให้พอเพียงสำหรับเลี้ยงตนเองและเพื่อเป็นรายได้
ขั้นที่ 1 ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น สถานะพื้นฐานของเกษตรกร คือ มีพื้นที่น้อย ค่อนข้างยากจน อยู่ในเขตเกษตรน้ำฝนเป็นหลัก โดยในขั้นที่ 1 นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพของการผลิต เสถียรภาพด้านอาหารประจำวัน ความมั่นคงของรายได้ ความมั่นคงของชีวิต และความมั่นคงของชุมชนชนบท เป็น
25
เศรษฐกิจพึ่งตนเองมากขึ้น มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ให้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ซึ่งหมายถึง พื้นที่ส่วนที่หนึ่งประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนและใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่าง ๆ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉดฯ ได้ด้วย) พื้นที่ส่วนที่สองประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้ พื้นที่ส่วนที่สามประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย และพื้นที่ส่วนที่สี่ประมาณ 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ (ถนน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น)
ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตนเป็นระยะเวลาพอสมควรจนได้ผลแล้ว เกษตรกรก็จะพัฒนาตนเองจากขั้น “พออยู่พอกิน” ไปสู่ขั้น “พอมีอันจะกิน” เพื่อให้มีผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงควรที่จะต้องดำเนินการตามขั้นที่สองและขั้นที่สามต่อไปตามลำดับ (มูลนิธิชัยพัฒนา, 2542)
ขั้นที่ 2 ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรง ร่วมใจกันดำเนินการในด้าน
(1) การผลิต เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิตโดยเริ่มตั้งแต่ ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย
การหาน้ำ และอื่น ๆ เพื่อการเพาะปลูก
(2) การตลาด เมื่อมีผลผลิตแล้ว จะต้องเตรียมการต่าง ๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์
สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดี และลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
(3) ความเป็นอยู่ ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐาน
ในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่าง ๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง
(4) สวัสดิการ แต่ละชุมชนควรมีสวัสดิการและบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วย
ไข้หรือมีกองทุนไว้ให้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ
(5) การศึกษา มีโรงเรียนและชุมชนมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อ
การศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชุมชนเอง
(6) สังคมและศาสนา ชุมชนควรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่
ยึดเหนี่ยว
กิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ
26
ขั้นที่ 3 ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้ดีขึ้น ฐานะมั่นคงขึ้น เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ ติดต่อประสานงานเพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัทห้างร้านเอกชน มาช่วยในการทำธุรกิจ การลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคารกับบริษัท จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ
(1) เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)
(2) ธนาคารกับบริษัทสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรมาสีเอง)
(3) เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาต่ำ เพราะรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก
(เป็นร้านสหกรณ์ซื้อในราคาขายส่ง)
(4) ธนาคารกับบริษัทจะสามารถกระจายบุคลากร (เพื่อไปดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ ให้
เกิดผลดียิ่งขึ้น)
ในปัจจุบันนี้ได้มีการนำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่ไปทำการทดลองขยายผล ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการจัดทำแปลงสาธิต จำนวน 25 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพภาค กระทรวงกลาโหม และกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการดำเนินงานให้มีการนำเอาทฤษฎีใหม่นี้ไปใช้อย่างกว้างขวางขึ้น
แผนภาพ จำลองการจัดสัดส่วนพื้นที่ตามแนวทฤษฎีใหม่
ระบบการจัดการพื้นที่
1. สระน้ำ ขนาดประมาณ 3 ไร่ ไว้เก็บกักน้ำและเลี้ยงปลาไว้บริโภค
2. นาข้าว ประมาณ 3 ไร่ ปลูกข้าวไว้บริโภค และปลูกพืชผักหมุนเวียนตามฤดูกาล
3. ไม้ผลที่เหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศ ประมาณ 3 ไร่ ควรเป็นแบบผสมผสาน และพึ่งพาอาศัยกันเป็นชั้น ๆ เช่น
- ไม้ผลหรือไม้ใช้สอยขนาดใหญ่ ต้นสูง เช่น สะตอ, มังคุด ฯลฯ
27
- ไม้ผลพุ่มขนาดกลาง เช่น มะม่วง ลำไย ขนุน ชมพู่ ส้มโอ ฯลฯ
- ไม้ผลพุ่มเตี้ย เช่น มะนาว ส้มเขียวหวาน ส้มจี๊ด ฯลฯ
- ไม้ผลและพืชผักขนาดเล็ก เช่น มะเขือ พริก กระเพรา ผักหวาน ฯลฯ
- ผักสวนครัว เช่น ตะไคร้ และพืชผัก ฯลฯ
- ผักประเภทเถา เกาะต้นไม้ใหญ่ เช่น ตำลึง, ฟัก, บวบ, ถั่วชนิดต่างๆ, พริกไทย ฯลฯ
- ผักเลื้อยกินหัว เช่น มัน ขิง ข่า
4. ที่อยู่อาศัยตามสภาพ คอกปศุสัตว์ และพืชผักสวนครัวที่ต้องการแสงแดด และแปลงปุ๋ยหมัก (หากไม่ใช่มุสลิม แนะนำให้เลี้ยงหมูหลุม) ใช้เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ จัดระบบภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมที่ดี
5. แนวรั้วควรเป็นพืชสวนครัวรั้วกินได้ เช่น หากมีเสารั้วควรปลูกแก้วมังกร ระหว่างเสารั้ว ควรเป็นผักหวาน, ชะอม, ต้นแค, มะละกอ ฯลฯ
6. รอบ ๆ ขอบสระน้ำ ปลูกพืชผักได้ตามสภาพ เช่น กล้วย, อ้อย, มะรุม, แค ส่วนของสระด้านในควรปลูกหญ้าแฝกกันการพังทลายของดินลงสระ
หมายเหตุ การออกแบบวางผัง ควรคำนึงถึงสภาพพื้นที่ของแต่ละรายตามสภาพจริง
เศรษฐกิจพอเพียงกับอาชีพธุรกิจ
ธุรกิจทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทการผลิต การค้า หรือบริการ ล้วนแต่มีความสำคัญ
อย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากผลประกอบการทางธุรกิจมีอิทธิพลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจและความเจริญเติบโตของประเทศ การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยที่ผ่านมามีเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยระบบทุนนิยมที่กระตุ้นให้คนบริโภคตลอดเวลาและมากยิ่งขึ้น เพื่อผลตอบแทนสูงสุด โดยไม่คำนึงถึงวิธีการอันชอบธรรมการขยายตัวของผลผลิตมุ่งการพึ่งพาอุปสงค์ เทคโนโลยี และทุนจากต่างประเทศ ทำให้ความสามารถในการพึ่งพาตนเองต่ำลง องค์กรธุรกิจถูกครอบงำความคิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ด้านลบ ส่งผลกระทบต่อค่านิยมและทัศนคติที่เน้นความร่ำรวยและความสะดวกสบายเป็นเป้าหมาย เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม และขาดจิตสำนึกต่อสาธารณะ องค์กรธุรกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงภายใต้เงื่อนไขในระบบเศรษฐกิจโลกที่มีความสลับซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน
ดังนั้น การปรับตัวต่อกระแสโลกาภิวัตน์ จึงจำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้และการยืนหยัดอยู่ บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างศักยภาพการดำเนินธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากสภาพแวดล้อมภายนอก ในบริบทของความเชื่อมั่นต่อการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในองค์กรจากประเด็นต่างๆ ได้แก่ เศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้ผลดีเฉพาะในภาคเกษตร เศรษฐกิจพอเพียงคือการประหยัดและไม่เป็นหนี้ การแสวงหา
28
กำไรขัดกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่เหมาะสมกับธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์ เมื่อพิจารณาจากแนวคิด หลักการ และองค์ประกอบต่างๆ ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถอธิบายในประเด็นดังกล่าว ดังนี้
เนื่องจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้นำไปประยุกต์ใช้กับภาคเกษตรในระยะแรก เพราะมีความขัดสนสูงกว่าภาคอื่นๆ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้ผลดีเฉพาะภาคเกษตรเท่านั้น ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (2549: 286) ได้อธิบายว่า“เศรษฐกิจพอเพียงมิได้จำกัดเฉพาะของเกษตรกรหรือชาวไร่ชาวนาเพียงเท่านั้น แต่เป็นเศรษฐกิจของทุกคนทุกอาชีพ ทั้งที่อยู่ในเมืองและอยู่ในชนบท เช่น ผู้ที่เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและบริษัทในระบบเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าจะต้องขยายกิจการเพราะความเจริญเติบโตของเนื้องาน โดยอาศัยการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือหากจะกู้ยืมก็กระทำตามความเหมาะสม ไม่ใช่กู้มาลงทุนจนเกินตัวจนไม่เหลือที่มั่นให้ยืนอยู่ได้ ต้องรู้จักใช้จ่าย ไม่ฟุ่มเฟือยเกินตัว” อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในด้านองค์ประกอบและเงื่อนไข จะเห็นได้ว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปใช้ได้ในทุกระดับและประกอบอาชีพได้ในทุกสาขาไม่จำกัดเฉพาะภาคเกษตร การประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจและภาคเศรษฐกิจอื่นๆ มีความสำคัญมาก เนื่องจากแนวโน้มสังคมไทยเป็นสังคมเมืองมากขึ้น และการผลิตของภาคธุรกิจมีสัดส่วนสูงมาก หากภาคธุรกิจไม่ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางแล้ว ยากที่จะเกิดความพอเพียง (ณัฏฐพงศ์ ทองภักดี, 2550: 18)
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำทางการบริหารธุรกิจ โดยไม่ปฏิเสธระบบการตลาด แต่เป็น
เครื่องชี้นำการทำงานของกลไกตลาดให้มีเสถียรภาพดีขึ้น และไม่ ขัดกับหลักการแสวงหากำไร จึงไม่จำเป็นต้องลดกำไรหรือลดกำลังการผลิตลง แต่การได้มาซึ่งกำไรของธุรกิจ ต้องอยู่บนพื้นฐานของการไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น หรือแสวงหาผลกำไรเกินควรจากการเบียดเบียนประโยชน์ของสังคม ตลอดจนต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรในธุรกิจอย่าง ประหยัดและมีคุณภาพ ดังพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาวันที่ 4 ธันวาคม 2550 ความว่า (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2551ก: 2)
“ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร ไม่ใช่เพียงพอ ไม่ได้หมายความว่า ให้ทำกำไรเล็กๆ น้อยๆ
เท่านั้นเอง ทำกำไรก็ทำ ถ้าเราทำกำไรได้ดี มันก็ดี แต่ว่าขอให้มันพอเพียง ถ้าท่านเอากำไรหน้าเลือดมากเกินไป มันไม่ใช่พอเพียง นักเศรษฐกิจเขาว่าพระเจ้าอยู่หัว นี่คิดอะไรแปลกๆ ก็แปลกสิ ขายไม่ให้ได้กำไร ซื้ออะไรไม่ขาดทุน เป็นเศรษฐกิจพอเพียง คือไม่ต้องหน้าเลือด แล้วไม่ใช่จะมีกำไรมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ให้พอเพียง ไม่ใช่เรื่องของการค้าเท่านั้นเอง เป็นเรื่องของการพอเหมาะพอดี”
นอกจากนี้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ปฏิเสธการเป็นหนี้หรือการกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนในภาค
29
ธุรกิจ โดยยังคงมุ่งสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการผลิต เพื่อความก้าวหน้าขององค์กร แต่เน้นการบริหารความเสี่ยงต่ำ กล่าวคือ การกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนทางธุรกิจ จะต้องมีการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงที่จะกระทบต่อธุรกิจ โดยคำนึงถึงหลักความคุ้มค่าและกำหนดมาตรการรองรับความเสี่ยงที่ จะเกิดขึ้น (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2551ข: 1)
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวและสร้างความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ธุรกิจที่ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะแข่งขันอย่างพอประมาณตามศักยภาพของตนเอง โดยทำธุรกิจที่มีความชำนาญหรือสร้างความรู้ เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความสามารถในการแข่งขันที่ ดีขึ้น
ดังนั้น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจปิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ไม่ค้าขาย ไม่ส่งออก หรือหันหลังให้กับกระแสโลกาภิวัตน์ แต่เป็นปรัชญาที่ เน้นการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนบนรากฐานที่เข้มแข็ง โดยองค์กรธุรกิจต้องรู้เท่าทันความสามารถของตนเอง ใช้หลักตนเป็นที่พึ่งของตนเองให้ได้ก่อน จากนั้นจึงพัฒนาตนเอง เพื่อให้ธุรกิจมีคุณภาพและเข้มแข็งขึ้น สามารถเป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นได้ และนำไปสู่สังคมที่มีการเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ในที่สุด (สุทิน ลี้ปิยะชาติ, นริสา พิชัยวรุตมะ และอาทิสุดา ณ นคร, 2550: 9)
จากการรายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาคน” ในปี 2550 ได้สนับสนุน การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในภาคธุรกิจว่า เศรษฐกิจพอเพียงช่วยยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท ด้วยการสร้างข้อปฏิบัติในการทำธุรกิจที่เน้นผลกำไรระยะยาวในบริบทที่มีการแข่งขัน การบริหารธุรกิจให้เกิดกำไรในโลกทุกวันนี้ มีความซับซ้อนมากกว่าการคิดถึงต้นทุนและผลตอบแทน ธุรกิจต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกกลุ่ม ตั้งแต่นายจ้างไปจนถึงลูกค้าและสังคมโดยรวม อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างผู้นำธุรกิจกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในองค์กรรวดเร็ว (สุทิน ลี้ปิยะชาติ, นริสา พิชัยวรุตมะ และอาทิสุดา ณ นคร, 2550 : 8) จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักการเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง เพื่อเพิ่มความสามารถในการตอบสนองกิจการต่างๆ รอบด้าน โดยไม่ จำกัดเฉพาะภาคเกษตรองค์กรที่ต้องการเติบโตได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์จำเป็นต้องนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ซึ่งไม่ขัดกับหลักการแสวงหากำไร โดยอยู่บนพื้นฐานของการไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น และคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะกระทบต่อธุรกิจ
30
เรื่องที่ 2 โครงการและแผนงานประกอบอาชีพ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
การประกอบอาชีพของคนเรามีมากมายหลากหลายอาชีพ เช่น เกษตรกรรม การปศุสัตว์ การป่าไม้ การขนส่ง อุตสาหกรรม การค้าขาย การแกะสลักไม้ การเจียระไนพลอย การทอผ้า ฯลฯ อย่างไรก็ตามการที่จะคิดประกอบอาชีพใด ๆ นั้น จะต้องผ่านการศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ โดยมีข้อมูลต่าง ๆ อยู่มาก เพียงพอที่จะมาใช้ในการตัดสินใจประกอบอาชีพนั้นได้ เมื่อคิดแล้วก็ควรกำหนด ให้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เห็นเป็นขั้นตอน แสดงถึงความต่อเนื่อง มองเห็นข้อบกพร่องหรือข้อมูลที่ขาดไปได้ เพื่อความสมบูรณ์ของโครงการและแผนงานการดำเนินงาน
การจัดทำโครงการและแผนงานประกอบอาชีพ หรือโครงงานการประกอบอาชีพ มีความสำคัญ และจำเป็นต่อการประกอบอาชีพเพราะถือว่าได้มีการคิดไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงลงมือปฏิบัติ ความผิดพลาดทั้งหลายย่อมน้อยลงโดยเฉพาะการวางแผนการดำเนินงานนั้นจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนการผลิต แผนการลงทุน และแผนการตลาด
ประโยชน์ของโครงงานการประกอบอาชีพ
1. ทำให้การประกอบอาชีพบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีระบบการทำงานและลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน
2. ช่วยให้การใช้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ช่วยให้เจ้าของกิจการมีความเชื่อมั่นในการบริหารงาน และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นเพราะมีการวางแผน และคิดอย่างรอบคอบมาแล้ว
4. ช่วยให้เจ้าของกิจการสามารถตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินงาน และความสำเร็จของเป้าหมาย
องค์ประกอบของโครงงานการประกอบอาชีพ
เมื่อตัดสินใจเลือกอาชีพ และมีการวิเคราะห์ความพร้อม และความเป็นไปได้ของอาชีพที่ตัดสินใจเลือกแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การเขียนโครงงานการประกอบอาชีพที่ตัดสินใจเลือก การเขียนโครงงานการประกอบอาชีพ มีองค์ประกอบหรือหัวข้อที่ต้องเขียนดังนี้
1. ชื่อโครงการ ควรตั้งชื่อโครงการที่สื่อความหมายได้ชัดเจน เช่น โครงการเลี้ยงไก่กระทง โครงการขายผักปลอดสารพิษ โครงการจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น
2. เหตุผล/แรงจูงใจในการทำโครงการ ให้เขียนถึงเหตุผลที่เลือกทำโครงการนั้น เช่น เป็นอาชีพที่เป็นความต้องการของตลาด/ชุมชน หรือตัวผู้ประกอบอาชีพมีความถนัด ความสนใจ ในอาชีพนั้น ๆ อย่างไร เป็นต้น
3. วัตถุประสงค์ ให้เขียนวัตถุประสงค์ในการทำโครงการนั้น ๆ ให้ชัดเจน เช่น เพื่อให้มีประสบการณ์ในการทำอาชีพนั้น ๆ หรือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของตนเองในการประกอบอาชีพนั้น ๆ
31
4. เป้าหมาย ควรกำหนดเป้าหมายในเชิงปริมาณและคุณภาพให้ชัดเจน เช่น การเลี้ยงไก่กระทง จะเลี้ยง 5 รุ่น รุ่นละกี่ตัว
5. ระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ ใช้เวลาดำเนินการนานแค่ไหน เริ่มต้นโครงการเมื่อใด จะสิ้นสุดโครงการหรือขยายกิจการช่วงใด
6. สถานที่ประกอบการ ต้องระบุที่ตั้งของสถานที่ที่จะประกอบอาชีพนั้น
7. การดำเนินงาน ให้เขียนแสดงขั้นตอนการดำเนินงานอย่างละเอียดตั้งแต่ขั้นวางแผนปฏิบัติการการปฏิบัติการตามแผน และประเมินปรับปรุง การเขียนแผนการดำเนินงานการประกอบอาชีพ ควรมีองค์ประกอบหรือหัวข้อ ดังนี้
7.1 แผนการผลิต ให้เสนอรายละเอียดว่าในการผลิต หรือขายสินค้าหรือบริการ ตามโครงการที่กำหนดนั้น มีขั้นตอนการผลิตอย่างไร และกำหนดเวลาตามขั้นตอนนั้น ไว้อย่างไร 7.2 แผนการลงทุน ให้ระบุว่าที่มาของเงินทุนที่ใช้ในโครงการประกอบอาชีพนั้น ได้มาอย่างไร เงินทุนออกเอง หรือกู้ยืมมาจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ 7.3 แผนการตลาด ให้เสนอรายละเอียดว่าสินค้า หรือบริการในโครงการประกอบ อาชีพนั้น ๆ มีลูกค้าที่คาดหวังจำนวนเท่าใด และจะวางแผนเพื่อขยายตลาดให้ กว้างขวางขึ้น อย่างไร ในระยะเวลาใด
8. ปัญหาและแนวทางแก้ไข ให้ระบุปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับการประกอบอาชีพนั้น ๆ
9. ผลที่คาดว่าจะได้รับ แสดงให้เห็นถึงผลของการดำเนินงานในการประกอบอาชีพในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ ด้านกำไร และความพึงพอใจต่าง ๆ
10. ผู้รับผิดชอบดำเนินการ ระบุชื่อผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการ หรือรับผิดชอบโครงการในกรณีที่มีผู้ร่วมโครงการหลาย ๆ คน ก็ให้ชื่อผู้ร่วมโครงการทั้งหมดด้วย
การกำหนดโครงงานการประกอบอาชีพที่ตัดสินใจเลือก ก่อนการเริ่มต้นเขียนโครงงานการประกอบอาชีพที่ตัดสินใจเลือก มีความจำเป็นต้องศึกษา รวบรวมข้อมูลด้านต่าง ๆ ในอาชีพนั้น ๆ ดังนี้
1. ศึกษาสำรวจความต้องการของตลาด โดยการสำรวจสภาพ และความต้องการ ของชุมชน ที่จะเป็นแหล่งประกอบอาชีพเกี่ยวกับ จำนวนประชากร ลักษณะเฉพาะของประชากรซึ่งประกอบด้วย เพศ อายุ รายได้ อาชีพ ระดับการศึกษาความต้องการสินค้าและบริการในอาชีพนั้น ๆ จำนวนและอุปนิสัยในการซื้อของประชากรในพื้นที่ สภาพปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เช่น มีคู่แข่งขันขายสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกันในพื้นที่นั้น เป็นต้น
2. ทำเลที่ตั้งกิจการ จะต้องพิจารณาว่า ทำเลที่ตั้งกิจการที่จะประกอบอาชีพที่ตัดสินใจเลือกนั้น มีลักษณะที่จำเป็นในสิ่งต่อไปนี้หรือไม่เพียงใด การคมนาคม ขนส่งสะดวกหรือไม่ สภาพแวดล้อม เหมาะสมหรือไม่ มีคู่แข่งขันที่ขายสินค้าบริการ ประเภทเดียวกันหรือไม่ ถ้ามีจะแก้ปัญหาอย่างไร 3. สำรวจความพร้อมของตนเองในทุกด้าน เช่น ด้านความรู้ ความสามารถในอาชีพ ด้านปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ว่ามีความพร้อมหรือไม่ อย่างไร ถ้าไม่พร้อมจะแก้ปัญหาอย่างไร
32
4. ศึกษาความเป็นไปได้ของอาชีพ จะต้องพิจารณาว่าอาชีพที่เลือกนั้นจะทำให้รายได้มากน้อยเพียงใด คุ้มกับทุนที่ลงไปหรือไม่ จะใช้เวลาเท่าใดจึงจะคุ้มทุน รายได้หรือกำไรเพียงพอจะเลี้ยงชีพหรือไม่ หากรายได้ไม่เพียงพอจะแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อได้ศึกษารวบรวมข้อมูลดังกล่าวแล้ว และเห็นว่ามีแนวทางจะดำเนินโครงการได้ ก็เริ่มลงมือเขียนโครงงานการประกอบอาชีพ ตามหัวข้อที่กำหนด
ตัวอย่าง การเขียนโครงงานการประกอบอาชีพ
1. ชื่อโครงการ โครงการจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป
2. ชื่อ ผู้ดำเนินโครงการ.......................................
3. ชื่อ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ...........................
4. หลักการและเหตุผล อาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน เราต้องรับประทานอาหารทุกวัน คนในหมู่บ้านของกลุ่มผู้ดำเนินโครงการส่วนใหญ่ประกอบอาชีพนอกบ้าน มักไม่มีเวลาประกอบอาหารเอง ใกล้หมู่บ้านยังมีสำนักงานของเอกชนซึ่งมีพนักงานจำนวนมาก แต่ในบริเวณนี้มีร้านจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปน้อยคุณภาพอาหารและการบริการไม่ค่อยดี ไม่มีร้านจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปที่มีคุณภาพดี และราคาปานกลาง สมาชิกของกลุ่มมีความสามารถในการประกอบอาหารได้ดี และบริเวณบ้านของสมาชิกมีสถานที่กว้างเหมาะที่จะจัดเป็นร้านจำหน่ายอาหาร จึงได้จัดทำโครงการจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป
5.วัตถุประสงค์
1.เพื่อให้มีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป
2.เห็นช่องทางและมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป
3.สามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนและประสบการณ์การปฏิบัติโครงงานอาชีพไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม
6. เป้าหมาย
ด้านปริมาณ ปรุงและจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปในวันเสาร์และวันอาทิตย์
ด้านคุณภาพ นักเรียนทุกคนในกลุ่มเห็นช่องทางในการประกอบอาชีพและพัฒนาการ
ประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม
7. ระยะเวลาดำเนินโครงการตลอดโครงการตั้งแต่เปิดภาคเรียนจนถึงปิดภาคเรียน
(20 พฤษภาคม - 30 กันยายน และ 1 พฤศจิกายน – 15 มีนาคม )
8. สถานที่ประกอบอาชีพ บ้านเลขที่.....หมู่ที่.....ตำบล............อำเภอ.............จังหวัด................
9. งบประมาณ
9.1 แหล่งเงินทุน เงินสะสมของสมาชิกกลุ่ม คนละ 1,000 บาท
9.2 จำนวนเงินทุนเริ่มโครงการ 15,000 บาท
9.3 ทรัพย์สินถาวร โต๊ะ เก้าอี้ ถ้วย ชาม และเครื่องครัว ส่วนหนึ่งยืมใช้ชั่วคราว / จัดซื้อ
9.4 ทรัพย์สินสิ้นเปลือง อาหารสด ซื้อเป็นรายวัน
33
5. เงินทุนขยายกิจการ หากกิจกรรมประสบความสำเร็จก็จะนำกำไรมาขยายกิจการ
6. กำไร (คาดการณ์) ในระยะเริ่มแรกมีกำไรประมาณวันละ 300-500 บาท
10. ขั้นตอนการดำเนินงาน
1. การเตรียมการ
- ศึกษาสำรวจข้อมูล
- เขียนโครงการ
- ขออนุมัติโครงการ
- เตรียมหาทุน
- กำหนดรายการอาหารที่จะปรุงจำหน่าย
- ประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าเป้าหมายทราบ
2 การเตรียมสถานที่
- จัดตกแต่งสถานทีj
- เตรียมวัสดุอุปกรณ์
3 ขั้นตอนการดำเนินงานอย่างละเอียด
- ศึกษาหาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานอาชีพ
- ศึกษาสำรวจข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสำรวจความสนใจประกอบการเลือกอาชีพ
- วิเคราะห์ข้อมูล
- ตัดสินใจเลือกอาชีพ
- ศึกษาวิธีเขียนโครงงานอาชีพ
- ขออนุมัติโครงงานอาชีพ
- ศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม
- กำหนดรายการอาหารที่จะจำหน่าย
- ประชาสัมพันธ์บอกกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
- เตรียมอุปกรณ์การปรุงอาหาร ภาชนะต่าง ๆ
- ตกแต่งสถานที่
- ลงมือปรุงอาหารจำหน่าย โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนการปฏิบัติหน้าที่ดังนี้ ซื้ออาหารสด
ตกแต่ง / ทำความสะอาดร้าน / ล้างภาชนะ บริการลูกค้า เก็บเงิน – ทำบัญชี
- ประเมินการปฏิบัติงานเป็นรายวัน / รายสัปดาห์
- ประเมินสรุปเมื่อปฏิบัติงานเสร็จสิ้น
- เสนอแนะแนวทางการพัฒนาอาชีพ
34
11. ปัญหาและแนวทางแก้ไข
11.1 ปัญหา ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติงาน
1) ลูกค้ามีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
2) ประสบการณ์ในการจำหน่ายสินค้าไม่เพียงพอ
11.2 แนวทางแก้ไข
1) นำอาหารสำเร็จรูปใส่ถุงไปจำหน่ายตามบ้าน / ชุมชน
2) ขอคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นระยะ
12. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
12.1 ด้านความรู้และประสบการณ์ นักเรียนทุกคนมีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ เห็นช่องทางในการประอบอาชีพในอนาคต
12.2 ด้านผลผลิต ทรัพย์สิน กำไร นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน ทำให้เห็นคุณค่าของการประกอบอาชีพ แบ่งเบาภาระผู้ปกครอง
ลงชื่อผู้เสนอโครงการ…………………………………..
โครงงานการประกอบอาชีพ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
การจัดทำโครงงานการประกอบอาชีพ มีความสำคัญ และจำเป็นต่อการประกอบอาชีพเพราะถือว่าได้มีการวางแผน ก่อนลงมือปฏิบัติ ความผิดพลาด ทั้งหลายย่อมน้อยลงโดยเฉพาะการวางแผนการดำเนินงานนั้นจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับ แผนการผลิต แผนการลงทุน และแผนการตลาด การจัดทำโครงงานการประกอบอาชีพที่ดี ย่อมทำให้การประกอบอาชีพบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีระบบการทำงาน และลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน ทำให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เจ้าของกิจการมีความเชื่อมั่นในการบริหารงาน และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างดี เพราะมีการวางแผน และคิดอย่างรอบคอบมาแล้ว ช่วยให้เจ้าของกิจการสามารถตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินงาน และความสำเร็จ ของเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง
การจัดทำโครงงานการประกอบอาชีพ สามารนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการวางแผน การดำเนินงานได้ โดยจะเห็นได้ว่า “เศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุด กรอบแนวคิดของหลักปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา อันมีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่า ความพอเพียง ที่ประกอบด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ภายใต้เงื่อนไขของ
35
การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม” หรือที่เรียกว่า 3 ห่วง และ 2 เงื่อนไข ดังนี้
ความพอประมาณ ได้แก่ เรียบง่าย ประหยัด การทำอะไรที่พอเหมาะพอควร สมดุลกับอัตภาพ ศักยภาพของตนและสภาวะแวดล้อม ตามความสามารถของแต่ละคน พอประมาณกับภูมิสังคม สิ่งแวดล้อม สถานการณ์ การทำงานทุกอย่างต้องเรียบง่าย ประหยัด อย่าทำงานให้ยุ่ง ทำให้ง่ายต่อการเข้าใจ มีกำหนดการทำงานตามลำดับขั้นตอน และมีการปฏิบัติชัดเจน เช่น การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ต้องรู้ว่านักศึกษาต้องการอะไร ผู้ใช้บัณฑิตต้องการอะไร เพราะทุกกิจกรรม ทุกงานที่ทำมีต้นทุน อย่าทำงานทิ้งๆ ขว้าง ๆ การทำงานต้องมีประโยชน์ มีผลผลิตที่เกิดขึ้น
ความมีเหตุผล คือ การคิด ฟัง ปฏิบัติ การทำงานต้องใช้หลักความรู้ในการทำงาน วางแผนงานต้องระมัดระวัง ต้องใช้หลักวิชาการช่วยสนับสนุน อย่าใช้ความรู้สึกและอารมณ์ในการทำงาน ทุกคนมีศักยภาพในการทำงาน การพัฒนาตัวเองต้องเกิดขึ้นจากภายในตัวเองของแต่ละคน จึงต้องแสดงศักยภาพออกมาให้ได้
มีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี คือ ต้องมีแผนกลยุทธ์ เช่น เป็นอาจารย์ต้องมีแผนการสอน องค์กรต้องมีแผนกลยุทธ์ เป็นต้น การทำงานต้องให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องมองภาพรวม ทุกคนมีส่วนร่วม คือการประสานงาน และการบูรณาการปรับวิธีการทำงาน หน่วยงานองค์กรต้องมีธรรมาภิบาลเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้นกันภายในตัว
มีความรู้ การเรียนรู้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทุกคนมักจะมองข้ามไป เมื่อคิดว่าตนเองมีความรู้เพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกอาชีพย่อมต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพูนทักษะ เพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ หรือแม้แต่ให้ตนเองมีความตระหนักที่จะลับความรู้ของตนให้แหลมคมอยู่เสมอ เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
มีคุณธรรม การประกอบอาชีพต้องสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคล สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้การประกอบอาชีพประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ได้รับการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้อง ผู้ร่วมงาน และลูกค้า ผู้ประกอบอาชีพต้องมีคุณธรรม ดังนี้
- ความขยัน อดทน คือความตั้งใจเพียรพยายามทำหน้าที่การงาน การประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ความขยันต้องปฏิบัติควบคู่กับการใช้สติปัญญา แก้ปัญหาจนงานเกิดผลสำเร็จ
ผู้ที่มีความขยัน คือผู้ที่ตั้งใจประกอบอาชีพอย่างจริงจังต่อเนื่อง ในเรื่องที่ถูกที่ควร มีความพยายามเป็นคนสู้งาน ไม่ท้อถอย กล้าเผชิญอุปสรรค รักงานที่ทำ ตั้งใจทำหน้าที่อย่างจริงจัง
36
- ซื่อสัตย์ คือการประพฤติตรง ไม่เอนเอียง จริงใจไม่มีเล่ห์เหลี่ยมผู้ที่มีความซื่อสัตย์ คือผู้ที่ประกอบอาชีพตรงไปตรงมา ไม่คดโกง ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่ใช้วัตถุที่เป็นอันตราย และคำนึงถึงผลกระทบกับสภาพแวดล้อม
- ความอดทน คือ การรักษาสภาวะปกติของตนไว้ไม่ว่าจะกระทบกระทั่งปัญหาอุปสรรคใด ผู้มีความอดทน ในการประกอบอาชีพ นอกจากจะอาศัยปัญญาแล้ว ล้วนต้องอาศัย ขันติ หรือความอดทนในการต่อสู้แก้ไขปัญหาต่างให้งานอาชีพบรรลุความสำเร็จด้วยกันทั้งสิ้น
- การแบ่งปัน / การให้ คือการแบ่งปันสิ่งที่เรามี หรือสิ่งที่เราสามารถให้แก่ผู้อื่นได้และเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่รับ การให้ผู้อื่นที่บริสุทธิ์ใจไม่หวังสิ่งตอบแทนจะทำให้ผู้ให้ได้รับความสุขที่เป็นความทรงจำที่ยาวนาน การประกอบอาชีพโดยรู้จักการแบ่งปันหรือให้สิ่งต่าง ๆ ที่สามารถให้ได้แก่ลูกค้าและชุมชนของเราย่อมได้รับการตอบสนองจากลูกค้าในด้านความเชื่อถือ
โครงงานการประกอบอาชีพ สามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารจัดการได้จริง ดังจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ทำให้เราอยู่รอดไปวันๆ เท่านั้น แต่จะทำให้เรามีความสุขอย่างยั่งยืน และยังพัฒนาตนเองให้ร่ำรวยขึ้นได้ด้วย ซึ่งเป็นการร่ำรวยอย่างยั่งยืนแบบพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียง คือ การมีความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน ในด้านการบริหารธุรกิจ เราก็ต้องดูก่อนว่า เป้าหมายธุรกิจของเราคืออะไร มีแผนการอย่างไร ในการดำเนินตามแผน โดยที่ไม่ใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น แต่อะไรที่จำเป็นเราก็ควรจะจ่าย อะไรที่ไม่จำเป็นเราต้องลดรายจ่ายส่วนนั้นลง นี่ก็เป็นการใช้จ่ายเงินด้วยความพอประมาณ
นอกจากนั้น เราก็ต้องมีเหตุผลด้วย บริหารธุรกิจอย่างมีเหตุผลอะไรที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ต้องพิจารณาให้ดี ไม่ใช่ว่าเห็นคนอื่นทำอะไรก็ทำตาม คนอื่นโปรโมชั่นพิเศษอื่นๆ ก็ทำตามคนอื่นโฆษณาก็ทำตาม ซึ่งนี่เป็นการใช้ความรู้สึกนึกคิดตัดสินปัญหา ไม่ได้ใช้เหตุผลเลยดังนั้นเราต้องมีเหตุผลด้วย ในการทำอะไรสักอย่างก็ต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนดูว่าเหมาะสมกับธุรกิจของเราหรือไม่ สมควรทำหรือไม่ และถ้าทำเช่นนั้นแล้วจะเป็นอย่างไร
เมื่อเรามีความพอประมาณ มีเหตุผล แล้วก็ต้องมีภูมิคุ้มกันด้วย ธุรกิจของเราจะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง จึงจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนเพราะถ้าเราไม่มีภูมิคุ้มกันในด้านต่างๆ เวลาเกิดปัญหาอะไรขึ้นธุรกิจของเราก็จะอ่อนแอลง กำไรลดลงกระแสเงินสดลดลง ถ้าถึงขั้นร้ายแรงอาจจะทำให้ธุรกิจของจบลงไปเลยก็เป็นได้ ตัวอย่างเช่น เรามีแผนธุรกิจและทุกอย่างเป็นไปตามแผน แต่เราก็ยังเตรียมแผนสำรองไว้ด้วย เผื่อเกิดความผิดพลาดหรือบางทีเราเห็นว่าธุรกิจของเรามีกระแสเงินสดที่ไหลเวียนดี แต่เราก็ยังกันเงินบางส่วนไว้ เผื่อเกิดปัญหาด้านการเงินซึ่งเราไม่ได้คาดคิด ...ดังที่กล่าวมาก็เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจของเราได้เช่นกัน
37
เศรษฐกิจพอเพียงจึงไม่ใช่เพียงแค่การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หรือการใช้ชีวิตตามชนบทเท่านั้น แต่เราสามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาบริหารธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจของเราอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดไป
การทำงาน จึงต้องยึดความพอเพียง ประกอบด้วย ความมีเหตุผล ความพอประมาณ และระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มีกระบวนการพัฒนาที่ยึดคุณธรรม ความเพียร ความรอบรู้ ความซื่อสัตย์สุจริตให้เข้าสู่จิตใต้สำนึก การทำงานกับมนุษย์ต้องใช้หลักการ หลักวิชาการให้สอดคล้องกับภูมิสังคม คือภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อม ต้องปรับกระบวนการทำงาน การบริหารจัดการ ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การยอมรับจากเพื่อนร่วมงานในองค์กร เพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้ไปสู่ความสำเร็จ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
กิจกรรมที่ 3
1. ให้นักศึกษารวมกลุ่ม 3 – 5 คน หาข้อมูลบุคคลที่ประสบความสำเร็จในอาชีพที่ยึดหลักความพอเพียง โดยบุคคลนี้อาจอยู่ในพื้นที่หรือบริเวณใกล้เคียงก็ได้ จากนั้นให้นำข้อมูลดังกล่าวมารายงานแลกเปลี่ยนกันในชั้นเรียน
2. ให้ผู้เรียนแต่ละคนพิจารณาความพร้อมในการเลือกอาชีพของตนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมเขียนออกมาเป็นรายงานนำเสนอหน้าชั้นเรียน จากนั้นให้เพื่อนนักศึกษาร่วมวิจารณ์ และเก็บบันทึกนี้ไว้ในแฟ้มสะสมผลงานของนักศึกษาเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น