หน่วยการเรียนรู้ที่ ๑


บทที่ 1
ความพอเพียง
สาระสำคัญ
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิด หลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตตามแนวทางสายกลางของกลุ่มบุคคลทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และระดับประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ด้วยความพอเพียง คือมีความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีต่อการมีผลกระทบต่างๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในประเทศ โดยจะต้องมีความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง ควบคู่ไปกับการมีความรู้ที่เหมาะสม มีความสำนึกในคุณธรรม เพื่อให้สมดุลและพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งทางด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
ผลการเรียนที่คาดหวัง
อธิบายแนวคิด หลักการ ความหมาย ความสำคัญของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้
ขอบข่ายเนื้อหา
เรื่องที่ 1 ความเป็นมา ความหมาย ของหลักการแนวคิดของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เรื่องที่ 2 การแสวงหาความรู้
2
เรื่องที่ 1 ความเป็นมา ความหมาย หลักการแนวคิดของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ
พอเพียง
ความเป็นมาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตน ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรชาวไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 มีใจความว่า “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อนโดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...” และนับจากนั้นเป็นต้นมาพระองค์ได้ทรงเน้นย้ำถึงแนวทางการพัฒนาหลักแนวคิดพึ่งตนเองเพื่อให้เกิดความพอมี พอกิน พอใช้ของคนส่วนใหญ่ โดยใช้หลักความพอประมาณ การคำนึงถึงความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ตลอดจนทรงเตือนสติปวงชนชาวไทยไม่ให้ประมาท มีความตระหนักถึงการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่ถูกต้องตามหลักวิชา และการมีคุณธรรมเป็นกรอบในการปฏิบัติและการดำรงชีวิต
ในปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ นับว่าเป็นบทเรียนของการพัฒนาที่ไม่สมดุลและไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่ได้คำนึงถึงระดับความเหมาะสมกับศักยภาพของประเทศ หรือความพร้อมของคนและระบบและอีกส่วนหนึ่งนั้น การหวังพึ่งพิงจากต่างประเทศมากเกินไปทั้งในด้านความรู้ เงินลงทุน หรือตลาด โดยไม่ได้เตรียมสร้างพื้นฐานภายในประเทศให้มีความมั่นคงและเข้มแข็ง หรือสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อให้สามารถพร้อมรับความเสี่ยงจากความผกผันเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายในและภายนอก บทเรียนจากการพัฒนาที่ผ่านมานั้นทำให้ประชาชนคนไทยทุกระดับในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม นักวิชาการ หันกลับมาทบทวนแนวทางการพัฒนาและการดำเนินชีวิตของคนในชาติ แล้วมุ่งให้ความสำคัญกับพระราชดำริของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องการพัฒนาและการดำเนินชีวิตแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และศึกษาค้นคว้าพัฒนาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในเชิงกรอบแนวคิดทางทฤษฎีและใช้เป็นแนวในการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมกันพิจารณา กลั่นกรอง พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทายแก่ปวงชนชาวไทยในโอกาสต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแล้วสรุปเป็นนิยามความหมายปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และได้อัญเชิญเป็นปรัชญานำทางในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 - 2549) และฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554) เพื่อ
3
ส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับและทุกภาคส่วนของสังคมมีความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและนำไปเป็นพื้นฐานและแนวทางในการดำเนินชีวิตอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ประชาชนมีความเป็นอยู่ร่มเย็นเป็นสุข สังคมมีความเข้มแข็ง และประเทศชาติมีความมั่นคง
ความหมายปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่เป็นแนวคิด หลักการ และแนวทางปฏิบัติตนของแต่ละบุคคลและองค์กรทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับประเทศทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยคำนึงถึงความพอประมาณกับศักยภาพตนเองและสภาวะแวดล้อม ความมีเหตุผลและการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเองโดยใช้ความรู้อย่างถูกหลักวิชาการด้วยความรอบคอบและระมัดระวังควบคู่ไปกับการมีคุณธรรม ไม่เบียดเบียนกัน แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันและร่วมมือปรองดองกันในสังคม ซึ่งนำไปสู่ความสามัคคี การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ได้
หลักแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พัฒนาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อที่จะให้พสกนิกรชาวไทยได้เข้าถึงทางสายกลางของชีวิตและเพื่อคงไว้ซึ่งทฤษฎีของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทฤษฎีนี้เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตซึ่งอยู่ระหว่างสังคมระดับท้องถิ่นและตลาดระดับสากล จุดเด่นของแนวปรัชญานี้คือแนวทางที่สมดุล โดยใช้หลักธรรมชาติที่เป็นเหตุเป็นผลอย่างเชื่อมโยง พัฒนาให้ทันสมัย และก้าวสู่ความเป็นสากลได้ โดยปราศจากการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญในช่วงปี พ.ศ. 2540 เมื่อปีที่ประเทศไทยต้องการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพื่อที่จะยืนหยัดในการพึ่งตนเองและพัฒนานโยบาย ที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยการสร้างแนวคิดเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้ ซึ่งคนไทยจะสามารถเลี้ยงชีพโดยอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียงและการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ก็ได้ผ่านการทดลองในพระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐานและโครงการในภูมิภาคต่าง ๆ หลายโครงการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า มันไม่ได้มีความจำเป็นที่เราจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIC) พระองค์ได้ทรงอธิบายว่า ความพอเพียงและการพึ่งตนเอง คือ ทางสายกลางที่จะป้องกันการเปลี่ยนแปลงความไม่มั่นคงของประเทศได้ และการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเชื่อว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมของชุมชนให้ดีขึ้น โดยมีปัจจัย 2 อย่าง คือ
1. การผลิตจะต้องมีความสัมพันธ์กันระหว่างปริมาณผลผลิตและการบริโภค
2. ชุมชนจะต้องมีความสามารถในการจัดการทรัพยากรของตนเองอย่างครบวงจร
ผลที่เกิดขึ้น คือ
4
1. เศรษฐกิจพอเพียงสามารถที่จะคงไว้ซึ่งขนาดของประชากรที่ได้สัดส่วน
2. ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม
3. รักษาสมดุลของระบบนิเวศ และปราศจากการแทรกแซงจากปัจจัยภายนอก
ปัจจุบันแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้มีการนำไปใช้เป็นนโยบายของรัฐบาล และปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 78 (1)ว่า “การบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน โดยต้องส่งเสริมการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญ”
การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีหลักการพิจารณา 5 ส่วน ดังนี้
1. กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงชีวิตและการปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทยที่นำประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติเพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา
2. คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับโดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลางและการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
3. คำนิยามความพอเพียง ประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ ดังนี้
3.1 ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น การจะทำอะไรต้องมีความพอดี พอเหมาะ พอควร ต่อความจำเป็น เหมาะสมกับฐานะของตนเอง สภาวะสังคมแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น และไม่น้อยเกินไปจนกระทั่งไม่เพียงพอที่จะดำเนินการได้ ซึ่งการตัดสินว่าในระดับพอประมาณนั้นจะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบในการวางแผนและตัดสินใจอย่างมีคุณธรรมด้วย เช่น ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3.2 ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นอย่างรอบคอบ ครบวงจรบนพื้นฐานของความถูกต้อง ความเป็นจริง ตามหลักวิชาการ หลักกฎหมาย หลักศีลธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมที่ดีงาม ทั้งในระยะยาว ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และส่วนรวม การคิดพิจารณาแยกแยะให้เห็นความเชื่อมโยงของเหตุ ปัจจัย ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างเป็นระบบจะทำให้บรรลุ
5
เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีข้อผิดพลาดน้อย การที่จะวางแผนดำเนินการสิ่งใดอย่างสมเหตุสมผล ต้องอาศัยความรอบรู้ ขยันหมั่นเพียร อดทนที่จะจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและแสวงหาความรู้ที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ มีความรอบคอบในความคิด พิจารณาตัดสินใจ โดยใช้สติ ปัญญา อย่างเฉลียวฉลาดในทางที่ถูกที่ควร
3.3 การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนด้านต่างๆ ที่จะเกิดทั้งในด้านเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือได้ทันที หรือกล่าวได้ว่าการที่จะทำอะไรอย่างไม่เสี่ยงเกินไป ไม่ประมาท คิดถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แล้วเตรียมตนเอง เตรียมวิธีการทำงานรองรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อให้การทำงานสามารถดำเนินเป็นไปได้อย่างราบรื่นและนำมาซึ่งผลประโยชน์ในระยะยาวและความสุขที่ยั่งยืน
4. เงื่อนไข การตัดสินและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง ต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ดังนี้
4.1 เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกันเพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
4.2 เงื่อนไขคุณธรรม คุณธรรมที่จะต้องเสริมสร้างให้เป็นพื้นฐานของคนในชาติ ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร รู้ผิดรู้ชอบ ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องและเหมาะสม ไม่โลภและไม่ตระหนี่ รู้จักแบ่งปันและรับผิดชอบในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
5. แนวทางการปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี
6
สรุปปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
แผนภาพแสดงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข
ระบบเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นให้บุคคลสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน และใช้จ่ายเงินที่ได้มาอย่างพอเพียงและประหยัด ตามกำลังของเงินของบุคคลนั้น โดยหลีกเลี่ยงการกู้หนี้ยืมสิน และถ้ามีเงินเหลือก็แบ่งเก็บออมไว้บางส่วน ช่วยเหลือผู้อื่นบางส่วน และอาจจะใช้จ่ายมาเพื่อปัจจัยเสริมอีกบางส่วน (ปัจจัยเสริมในที่นี้เช่น ท่องเที่ยว ความบันเทิง เป็นต้น) สาเหตุที่แนวทางการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ได้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในขณะนี้ เพราะสภาพการดำรงชีวิตของสังคมทุนนิยมในปัจจุบันได้ถูกปลูกฝัง สร้าง หรือกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายอย่างเกินตัว ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเกินกว่าปัจจัยในการดำรงชีวิต เช่น การบริโภคเกินตัว ความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ ความสวยความงาม การแต่งตัวตามแฟชั่น การพนันหรือเสี่ยงโชค เป็นต้น จนทำให้ไม่มีเงินเพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น ส่งผลให้เกิดการกู้หนี้ยืมสิน เกิดเป็นวัฎจักรที่บุคคลหนึ่งไม่สามารถหลุดออกมาได้ ถ้าไม่เปลี่ยนแนวทางในการดำรงชีวิต
13 นักคิดระดับโลกเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และมีการนำเสนอบทความ บทสัมภาษณ์เป็นการยื่นข้อเสนอแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่โลก เช่น
ศ.ดร.วูล์ฟกัง ซัคส์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมคนสำคัญของประเทศเยอรมนี สนใจการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นที่รู้จักในเยอรมนี
ศ.ดร.อมาตยา เซน ศาสตราจารย์ชาวอินเดีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 1998 มองว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการใช้สิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และใช้โอกาสให้พอเพียงกับชีวิตที่ดี ซึ่งไม่ได้หมายถึงความไม่ต้องการ แต่ต้องรู้จักใช้ชีวิตให้ดีพอ อย่าให้ความสำคัญกับเรื่องของรายได้และความร่ำรวยแต่ให้มองที่คุณค่าของชีวิตมนุษย์
นายจิกมี ทินเลย์ กษัตริย์แห่งประเทศภูฎานให้ทรรศนะว่า หากประเทศไทยกำหนดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นวาระระดับชาติ และดำเนินตามแนวทางนี้อย่างจริงจัง “ผมว่าประเทศไทย
เงื่อนไข ความรู้
(รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง)
เงื่อนไข คุณธรรม
(ซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน แบ่งปัน)
นำสู่
7
สามารถสร้างโลกใบใหม่จากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสร้างชีวิตที่ยั่งยืน และสุดท้ายจะไม่หยุดเพียงแค่ในประเทศ แต่จะเป็นหลักการและแนวปฏิบัติของโลก ซึ่งหากทำได้สำเร็จไทยก็คือผู้นำ”
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ได้รับการเชิดชูสูงสุดจากองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยนายโคฟี อันนัน ในฐานะเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล The Human Development Lifetime Achievement Award แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 และได้มีปาฐกถาถึงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสามารถเริ่มได้จากการสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง สู่หมู่บ้าน และสู่เศรษฐกิจในวงกว้างขึ้นในที่สุด นาย Hakan Bjorkman รักษาการผู้อำนวยการ UNDP ในประเทศไทยกล่าวเชิดชูปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ UNDP นั้นตระหนักถึงวิสัยทัศน์และแนวคิดในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยที่องค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิก 166 ประเทศยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนา ประเทศแบบยั่งยืน
หลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
พระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้น คือการมุ่งเน้นให้ยึดวิถีชีวิตไทย โดยหันกลับมายึดเส้นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ในการดำเนินชีวิตให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยใช้หลักการพึ่งตนเอง 5 ประการ คือ (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ,2547:2-3)
1. ด้านจิตใจ ทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนเอง มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีจิตสำนึกที่ดี สร้างสรรค์ให้ตนเองและชาติโดยรวม มีจิตใจเอื้ออาทร ประนีประนอม ซื่อสัตย์สุจริต เป็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ดังกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการพัฒนาความว่า “...บุคคลต้องมีรากฐานทางจิตใจที่ดี คือ ความหนักแน่นมั่นคงในสุจริตธรรมและความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้จนสำเร็จ ทั้งต้องมีกุศโลบายหรือวิธีการอันแยบยลในการปฏิบัติงาน ประกอบพร้อมด้วยจึงจะสัมฤทธิ์ผลที่แน่นอนและบังเกิดประโยชน์อันยั่งยืนแก่ตนเองและแผ่นดิน...”
2. ด้านสังคม แต่ละชุมชนต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายชุมชนที่แข็งแรง เป็นอิสระ ดังกระแสพระราชดำรัสความว่า “...เพื่อให้งานรุดหน้าไปพร้อมเพรียงกัน ไม่ลดหลั่น จึงขอให้ทุกคนพยายามที่จะทำงานในหน้าที่อย่างเต็มที่ และให้มีการประชาสัมพันธ์กันให้ดี เพื่อให้งานทั้งหมดเป็นงานที่เกื้อหนุนสนับสนุนกัน...”
3. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ใช้และจัดการอย่างฉลาดพร้อมทั้งการเพิ่มมูลค่าโดยให้ยึดหลักการของความยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด ดังกระแสพระราชดำรัสความว่า “...ถ้ารักษา
8
สิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม นึกว่าอยู่ได้อีกหลายร้อยปี ถึงเวลานั้นลูกหลานของเรามาก็อาจหาวิธีแก้ปัญหาต่อไปเป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เราก็ทำได้ ได้รักษาสิ่งแวดล้อมไว้ให้พอสมควร...”
4. ด้านเทคโนโลยี จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่ทั้งดีและไม่ดี จึงต้องแยกแยะบนพื้นฐานของภูมิปัญญาชาวบ้าน และเลือกใช้เฉพาะที่สอดคล้องกับความต้องการของสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ สังคมไทย และควรพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาของเราเอง ดังกระแสพระราชดำรัสความว่า “...การเสริมส่งที่ชาวบ้านชาวชนบทขาดแคลน และความต้องการ คือ ความรู้ในด้านเกษตรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นสิ่งที่เหมาะสม...” “...การใช้เทคโนโลยีอย่างใหญ่โตเต็มรูปหรือเต็มขนาดในงานอาชีพหลักของประเทศย่อมจะมีปัญหา...”
5. ด้านเศรษฐกิจ แต่เดิมนักพัฒนามักมุ่งที่จะเพิ่มรายได้และไม่มีการมุ่งที่การลดรายจ่าย ในเวลาเช่นนี้จะต้องปรับทิศทางใหม่ คือ จะต้องมุ่งลดรายจ่ายก่อนเป็นสำคัญและยึดหลักพออยู่ พอกิน พอใช้ และสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองในระดับเบื้องต้น ดังกระแสพระราชดำรัสความว่า “...การที่ต้องการให้ทุกคนพยายามที่จะหาความรู้และสร้างตนเองให้มั่นคงนี้เพื่อตนเอง เพื่อที่จะให้ตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ก้าวหน้า ที่มีความสุข พอมี พอกิน เป็นขั้นหนึ่งและขั้นต่อไป ก็คือให้มีเกียรติว่ายืนได้ด้วยตนเอง...” “...หากพวกเราร่วมมือร่วมใจกันทำสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ประเทศชาติของเราก็สามารถรอดพ้นจากวิกฤติได้...”
ความสำคัญของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและพัฒนาคน ดังนี้
1. เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับการขจัดความยากจน และการลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
2. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานของการสร้างพลังอำนาจของชุมชนและการพัฒนาศักยภาพชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ
3. เศรษฐกิจพอเพียงช่วยยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทด้วยการสร้างข้อปฏิบัติในการทำธุรกิจที่เน้นผลกำไรระยะยาวในบริบทที่มีการแข่งขัน
4. หลักการเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการปรับปรุงมาตรฐานของ ธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ
5. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของชาติ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์ที่เข้ามากระทบโดยฉับพลัน เพื่อปรับปรุงนโยบายต่างๆ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการเติบโตที่เสมอภาคและยั่งยืน
6. ในการปลูกฝังจิตสำนึกพอเพียงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน ค่านิยม และความคิดของคนเพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาคน
9
7. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงช่วยให้มนุษย์มีความพออยู่ พอกิน พอใช้ พึ่งตนเองได้ และมีความสุขตามอัตภาพ
8. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกับผู้อื่นตลอดจนเสรีภาพในสังคมได้อย่างสันติสุข ไม่เบียดเบียน ไม่เอารัดเอาเปรียบ แบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีจิตเมตตตาและจิตสาธารณะ
9. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ทำลาย เห็นคุณค่าและมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
10. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงช่วยให้มนุษย์อยู่อย่างมีรากเหง้าทางวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา ค่านิยม และเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล/สังคม
เรื่องที่ 2 การแสวงหาความรู้
การแสวงหาความรู้ของมนุษย์เกิดจากความต้องการของคนที่ต้องการของพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองให้ดีขึ้น จึงเป็นแรงกระตุ้นให้มีความอยากรู้ อยากเห็น อยากเข้าใจในปรากฎการณ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้รู้และเข้าใจถึงความจริงที่ควรเชื่อและยอมรับในความเป็นจริงของปรากฎการณ์ต่างๆ เหล่านั้น
วิธีการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ มีดังนี้
1. การแสวงหาความรู้จากประสบการณ์ (Experience) เป็นวิธีการแสวงหาความรู้ของแต่ละบุคคลจากการค้นพบด้วยตนเองหรือเกิดขึ้นโดยบังเอิญ (By Chance) เช่น การค้นพบความรู้ของชาร์ลส์ กูดเยียร์ (Charls Goodyear) เกี่ยวกับยางพาราดิบเมื่อถูกความร้อนจะช่วยให้ยางนั้นแข็งตัว และมีความทนทานเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่การประดิษฐ์ยางรถยนต์ที่แพร่หลายในปัจจุบันนี้ หรือเกิดจากการลองผิดลองถูก (By Trial and Error) เช่น ผู้เดินทางไปเที่ยวในป่าถูกแมลงกัดต่อยเกิดเป็นผื่นคัน ไม่มียาทาจึงนำใบไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งมาทาแล้วหาย จึงเกิดการเรียนรู้ว่าใบไม้ชนิดนั้นสามารถนำมาใช้แก้ผื่นคันได้
2. การแสวงหาความรู้จากผู้รู้ (Authority) เป็นการแสวงหาความรู้จากคำบอกเล่าของผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีอำนาจหน้าที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป เช่น นักปราชญ์ ผู้นำ นักบวช หรือการเรียนรู้จากประเพณี วัฒนธรรมที่มีผู้รู้ หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เป็นผู้บอกหรือถ่ายทอดความรู้โดยการเขียนหนังสือตำรา หรือบอกโดยผ่านสื่ออื่นๆ
3. การแสวงหาความรู้โดยอาศัยเหตุผลจากการอนุมาน (Deductive Reasoning) เป็นการแสวงหาความรู้จากความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างข้อเท็จจริงใหญ่และข้อเท็จจริงย่อยแล้วนำมาสรุปเป็นความรู้
10
ข้อเท็จจริงใหญ่ : เป็นข้อตกลงที่กำหนดขึ้นเป็นข้อเท็จจริงในวงกว้าง
ข้อเท็จจริงย่อย : เป็นเหตุเฉพาะกรณีใดๆ เป็นข้อเท็จจริงในวงแคบที่มีความสัมพันธ์กับ ข้อเท็จจริงใหญ่
ข้อสรุป : เป็นข้อสรุปจากความสัมพันธ์ของข้อเท็จจริงใหญ่และข้อเท็จจริงย่อย ซึ่ง กล่าวว่าการอนุมานคือการสรุปส่วนใหญ่ไปหาส่วนย่อย
ตัวอย่างเหตุผลจากการอนุมาน
ข้อเท็จจริงใหญ่ : ลูกชายของลุงกำนันทุกคนเรียนเก่ง
ข้อเท็จจริงย่อย : พงไพรเป็นลูกชายคนที่สองของลุงกำนัน
ข้อสรุป : พงไพรเป็นคนที่เรียนเก่ง
4. การแสวงหาความรู้โดยอาศัยเหตุผลจากการอุปมาน (Inductive Reasoning) เป็นวิธีแสวงหาความรู้ที่ย้อนกลับกับวิธีอนุมาน เป็นการค้นหาความรู้จากข้อเท็จจริงย่อยๆ โดยพิจารณาจากสิ่งที่เหมือนกัน ต่างกัน สัมพันธ์กัน แล้วสรุปรวมเป็นข้อเท็จจริงใหญ่
ตัวอย่างเหตุผลจากการอุปมาน
ข้อเท็จจริงย่อย : คนที่เป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย แต่ละคนไม่สามารถรักษาให้หายได้ และ จะต้องตายในที่สุด
ดังนั้น : กลุ่มคนที่เป็นโรงมะเร็งระยะสุดท้ายต้องตายทุกคน
5. วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Approach) เป็นวิธีแสวงหาความรู้ของมนุษย์ที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) และจอห์น ดิวอี้ (John Dewey)ได้พัฒนาและนำแนวคิดเชิงย้อนกลับ (Reflective Thinking) และแนวคิดการแก้ปัญหา (Problem Solving) มาเป็นพื้นฐานในการคิดเป็นกระบวนการศึกษาข้อเท็จจริงและความรู้ต่างๆ โดยผ่านการสังเกต การดำเนินการตามแนวคิดทฤษฎีต่างๆ การทดสอบ การค้นพบ การทบทวน และการทำซ้ำ ผลิตความรู้ใหม่จากกระบวนการที่มีความสัมพันธ์กันและเกี่ยวข้องเป็นวัฏจักร โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ คือ การพิจารณาให้ใกล้ความจริงมากที่สุด โดยอาศัยการศึกษาข้อเท็จจริง ทฤษฎีและการทดสอบเครื่องมือ ดังนั้นวิธีการวิทยาศาสตร์ ถือว่าเป็นวิธีการที่มีหลักเกณฑ์และเหตุผลที่สามารถอธิบายได้มีลักษณะการศึกษาที่เป็นระบบ ตรงไปตรงมาปราศจากความลำเอียงและสามารถพิสูจน์ได้ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนด้วยกัน ซึ่งเรียกว่าขั้นตอนวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ดังนี้ 1. ขั้นปัญหา (Problem) เป็นการระบุและกำหนดขอบเขตของปัญหาของสิ่งที่ต้องการศึกษาให้ชัดเจน
2. ขั้นตั้งสมมติฐาน (Hypotheses) เป็นการคาดเดาหรือคาดคะเนคำตอบของปัญหาไว้ล่วงหน้าอย่างมีเหตุผล
11
3. ขั้นรวบรวมข้อมูล (Collecting data) เป็นการรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่กำหนด
4. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis) เป็นการจัดกระทำกับข้อมูลที่รวบรวม มาได้ โดยวิธีการตรรกศาสตร์หรือวิธีการทางสถิติ เพื่อตรวจสอบสมติฐานที่ตั้งไว้
5. ขั้นสรุปผล (Conclusion) เป็นการสรุปจากการวิเคราะห์ข้อมูลว่าข้อเท็จจริงของปัญหาที่แท้จริงนั้นคืออะไร
ทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
การแสวงหาความรู้ เป็นทักษะที่ต้องอาศัยการเรียนรู้และวิธีการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญทำให้เกิด แนวความคิดความเข้าใจที่ถูกต้องและกว้างขวางยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ที่แสวงหาความรู้จะเกิดทักษะในการค้นคว้าสิ่งที่ต้องการและสนใจอยากรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ จะทำให้ทราบข้อเท็จจริง และสามารถเปรียบเทียบข้อเท็จจริงที่ได้มาว่าควรเชื่อได้หรือไม่
ทักษะในการสร้างปัญญาเพื่อนำไปสู่การแสวงหาความรู้ด้วยตนเองมี 10 ขั้นตอน ดังนี้ (พัฒนาทักษะการแสวงหาความรู้ให้กับตนเอง, 2554 : ออนไลน์)
1. ทักษะการสังเกต คือ การสังเกตสิ่งที่เห็น สิ่งแวดล้อม หรือสิ่งที่ต้องการจะศึกษา โดยสังเกตเกี่ยวกับแหล่งที่มา ความเหมือน ความแตกต่าง สาเหตุของความแตกต่าง ประโยชน์ และผลกระทบ วิธีฝึกการสังเกต คือ การฝึกสมาธิ เพื่อให้มีสติ และทำให้เกิดปัญญา มีโลกทรรศน์ มีวิธีคิด
2. ทักษะการบันทึก คือ การบันทึกสิ่งที่ต้องจำหรือต้องศึกษา มีหลายวิธี ได้แก่ การทำสรุปย่อ การเขียนเค้าโครงเรื่อง การขีดเส้นใต้ การเขียนแผนภูมิ การทำเป็นแผนภาพ หรือ ทำเป็นตาราง เป็นต้น วิธีฝึกการบันทึก คือ การบันทึกทุกครั้งที่มีการสังเกต มีการฟัง หรือมีการอ่าน เป็นการพัฒนาปัญญา
3. ทักษะการนำเสนอ คือ การทำความเข้าใจในเรื่องที่จะนำเสนอให้ผู้อื่นรับรู้ได้ โดยจดจำในสิ่งที่จะนำเสนอออกมาอย่างเป็นระบบ ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การทำรายงานเป็นรูปเล่ม การรายงานปากเปล่า การรายงานด้วยเทคโนโลยี เป็นต้น วิธีฝึกการนำเสนอ คือ การฝึกตามหลักการของการนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ จนสามารถนำเสนอ ได้ดีซึ่งเป็นการพัฒนาปัญญา
4. ทักษะการฟัง คือ การจับประเด็นสำคัญของผู้พูด สามารถตั้งคำถามเรื่องที่ฟังได้ รู้จุดประสงค์ในการฟัง แสวงหาความรู้จะต้องค้นหาเรื่องสำคัญในการฟังให้ได้ วิธีฝึกการฟัง คือ การทำเค้าโครงเรื่องที่ฟัง จดบันทึกความคิดหลัก หรือถ้อยคำสำคัญลงในกระดาษบันทึกที่เตรียมไว้ อาจตั้งคำถามในใจ เช่น ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร เพราะเหตุใด อย่างไร เพราะจะทำให้การฟัง มีความหมายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
5. ทักษะการถาม คือ การถามเรื่องสำคัญ ๆ การตั้งคำถามสั้น ๆ เพื่อนำคำตอบมา เชื่อมต่อให้สัมพันธ์กับสิ่งที่เรารู้แล้วมาเป็นหลักฐานสำหรับประเด็นที่กล่าวถึง สิ่งที่ทำให้เราฟัง ได้อย่างมี
12
ประสิทธิภาพ คือ การถามเกี่ยวกับตัวเราเอง การฝึกถาม-ตอบ เป็นการฝึกการใช้เหตุผลวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำให้เข้าใจในเรื่องนั้น ๆ อย่างชัดเจน ถ้าเราฟังโดยไม่ถาม-ตอบ ก็จะเข้าใจ ในเรื่องนั้น ๆ ไม่ชัดเจน
6. ทักษะการตั้งสมมติฐานและตั้งคำถาม คือ การตั้งสมมติฐาน และตั้งคำถาม สิ่งที่เรียนรู้ไปแล้วได้ว่า คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะสำเร็จได้ การฝึกตั้งคำถาม ที่มีคุณค่าและมีความสำคัญ ทำให้อยากได้คำตอบ
7. ทักษะการค้นหาคำตอบจากแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น จากหนังสือ อินเทอร์เน็ต คุยกับคนแก่ แล้วแต่ธรรมชาติของคำถาม การค้นหาคำตอบต่อคำถามที่สำคัญจะสนุก และทำให้ได้ความรู้มาก บางคำถามหาคำตอบทุกวิถีทางแล้วไม่พบ ต้องหาคำตอบต่อไปด้วยการวิจัย
8. ทักษะการทำวิจัยสร้างความรู้ การวิจัยเพื่อหาคำตอบเป็นส่วนหนึ่งของ กระบวนการเรียนรู้ทุกระดับ การวิจัยจะทำให้ค้นพบความรู้ใหม่ ทำให้เกิดความภูมิใจ สนุก และมีประโยชน์มาก
9. ทักษะการเชื่อมโยงบูรณาการ คือ การเชื่อมโยงเรื่องที่เรียนรู้มา ให้เห็นภาพรวมทั้งหมด มองเห็นความงดงาม มองให้เห็นตัวเอง ไม่ควรให้ความรู้นั้นแยกออกเป็นส่วน ๆ
10. ทักษะการเขียนเรียบเรียง คือ การเรียบเรียงความคิดให้ประณีตขึ้น โดยการค้นคว้า หาหลักฐานอ้างอิงความรู้ให้ถี่ถ้วน แม่นยำขึ้น การเรียบเรียงทางวิชาการจึงเป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญ และเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ของผู้อื่นในวงกว้างออกไป
กล่าวโดยสรุป การแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจะเกิดขึ้นได้ ผู้แสวงหาความรู้จะต้องฝึกฝนทักษะในการสังเกต การบันทึก การนำเสนอ การฟัง การถาม การตั้งสมมตฐานและตั้งคำถาม การค้นหาคำตอบจากแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ การทำวิจัยสร้างความรู้ การเชื่อมโยงบูรณาการ และการเขียนเรียบเรียง
กิจกรรมที่ 1
1. ให้ผู้เรียนแบ่งกลุ่มๆละ 3-5 คน สรุปความเข้าใจเรื่องความพอเพียงตามหลักแนวคิดของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว นำเสนอในการพบกลุ่ม และเสนออาจารย์ที่ปรึกษา
2. เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร ให้ผู้เรียนอธิบายพอสังเขป
3. ให้ผู้เรียนอธิบายหลักการของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
4. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและพัฒนาคนอย่างไร จงอธิบาย
5. มนุษย์สามารถแสวงหาความรู้ได้อย่างไรบ้าง จงอธิบาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น