หน่วยการเรียนรู้ที่ ๒ การประกอบอาชีพอย่างพอเพียง

  บทที่ 2
การประกอบอาชีพอย่างพอเพียง
สาระสำคัญ
การประกอบอาชีพอย่างพอเพียงต้องอาศัยหลักความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาพิจารณาจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ของตัวเอง ครอบครัว และชุมได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับอาชีพที่ตนเองตัดสินใจเลือกทำแล้วใช้เงื่อนไขความรู้ เงื่อนไขคุณธรรมเป็นเครื่องมือกำหนดแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพใช้ดำเนินงานการประกอบอาชีพอย่างพอเพียง
ผลการเรียนที่คาดหวัง
บอกแนวทาง ในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ
ขอบข่ายเนื้อหา
เรื่องที่ 1 หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ของตนเอง
ครอบครัว ชุมชน
เรื่องที่ 2 หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการประกอบอาชีพ

เรื่องที่ 1 หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ของตนเอง
ครอบครัว ชุมชน
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจที่พอเพียงกับตนเองทำให้อยู่ได้ไม่ต้องเดือดร้อน มีสิ่งจำเป็นที่ทำได้โดยตัวเองไม่ต้องแข่งขันกับใคร และมีเหลือเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่มี อันนำไปสู่การแลกเปลี่ยนในชุมชน และขยายไปจนสามารถที่จะเป็นสินค้าส่งออก เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจระบบเปิดที่เริ่มจากตนเองและความร่วมมือ วิธีการเช่นนี้จะดึงศักยภาพของ ประชากรออกมาสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ซึ่งมีความผูกพันกับ “จิตวิญญาณ” คือ “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” ในระบบเศรษฐกิจพอเพียงจะจัดลำดับความสำคัญของ “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” มูลค่านั้นขาดจิตวิญญาณ เพราะเป็นเศรษฐกิจภาคการเงิน ที่เน้นที่จะตอบสนองต่อความต้องการที่ไม่จำกัดซึ่งไร้ขอบเขต ถ้าไม่สามารถควบคุมได้การใช้ทรัพยากรอย่างทำลายล้างจะรวดเร็วขึ้นและปัญหาจะตามมา เป็นการบริโภคที่ก่อให้เกิดความทุกข์หรือพาไปหาความทุกข์ และจะไม่มีโอกาสบรรลุวัตถุประสงค์ในการบริโภค ที่จะก่อให้เกิดความพอใจและความสุข (Maximization of Satisfaction) ผู้บริโภคต้องใช้หลักขาดทุนคือกำไร (Our loss is our gain) อย่างนี้จะควบคุมความต้องการที่ไม่จำกัดได้ และสามารถจะลดความต้องการลงมาได้ ก่อให้เกิดความพอใจและความสุขเท่ากับได้ตระหนักในเรื่อง “คุณค่า” จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ ไม่ต้องไปหาวิธีทำลายทรัพยากรเพื่อให้เกิดรายได้มาจัดสรรสิ่งที่เป็น “ความอยากที่ไม่มีที่สิ้นสุด” และขจัดความสำคัญของ “เงิน” ในรูปรายได้ที่เป็นตัวกำหนดการบริโภคลงได้ระดับหนึ่ง แล้วยังเป็นตัวแปรที่ไปลดภาระของกลไกของตลาดและการพึ่งพิงกลไกของตลาด ซึ่งบุคคลโดยทั่วไปไม่สามารถจะควบคุมได้ รวมทั้งได้มีส่วนในการป้องกันการบริโภคเลียนแบบ (Demonstration Effects) จะไม่ทำให้เกิดการสูญเสีย จะทำให้ไม่เกิดการบริโภคเกิน (Over Consumption) ซึ่งก่อให้เกิดสภาพเศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนายั่งยืน
ประเทศไทยอุดมไปด้วยทรัพยากรและยังมีพอสำหรับประชาชนไทยถ้ามีการจัดสรรที่ดี โดยยึด " คุณค่า " มากกว่า " มูลค่า " ยึดความสัมพันธ์ของ “บุคคล” กับ “ระบบ” และปรับความต้องการที่ไม่จำกัดลงมาให้ได้ตามหลักขาดทุนเพื่อกำไร และอาศัยความร่วมมือเพื่อให้เกิดครอบครัวที่เข้มแข็งอันเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบสังคม
ในการผลิตนั้นจะต้องทำด้วยความรอบคอบไม่เห็นแก่ได้ จะต้องคิดถึงปัจจัยที่มีและประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาอย่างเช่นบางคนมีโอกาสทำโครงการแต่ไม่ได้คำนึงว่าปัจจัยต่าง ๆ ไม่ครบ ปัจจัยหนึ่งคือขนาดของโรงงาน หรือเครื่องจักรที่สามารถที่จะปฏิบัติได้ แต่ข้อสำคัญที่สุด คือวัตถุดิบ ถ้าไม่สามารถที่จะให้ค่าตอบแทนวัตถุดิบแก่เกษตรกรที่เหมาะสม เกษตรกรก็จะไม่ผลิต ยิ่งถ้าใช้วัตถุดิบสำหรับใช้ในโรงงานนั้น เป็นวัตถุดิบที่จะต้องนำมาจากระยะไกล หรือนำเข้าก็จะยิ่งยาก เพราะว่า

วัตถุดิบที่นำเข้านั้นราคายิ่งแพง บางปีวัตถุดิบมีบริบูรณ์ ราคาอาจจะต่ำลงมา แต่เวลาจะขายสิ่งของที่ผลิตจากโรงงานก็ขายยากเหมือนกัน เพราะมีมากจึงทำให้ราคาตก หรือกรณีใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เกษตรกรรู้ดีว่าเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และผลผลิตที่เพิ่มนั้นจะล้นตลาด ขายได้ในราคาที่ลดลง ทำให้ขาดทุน ต้องเป็นหนี้สิน
การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ของตนเอง ครอบครัว และชุมชนจะช่วยให้ดำรงชีวิตอย่างไม่เดือดร้อน และเกิดความยั่งยืน โดยคำนึงถึง
1. รู้จักใช้และจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างชาญฉลาดและรอบคอบ โดยเริ่มต้นผลิตหรือบริโภคภายใต้ข้อจำกัดของรายได้หรือทรัพยากรที่มีอยู่ไปก่อน คือใช้หลักพึ่งพาตนเอง โดยมุ่งเน้นการผลิตพืชผลให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในครัวเรือนเป็นอันดับแรก เมื่อเหลือจากการบริโภคแล้วจึงคำนึงถึงการผลิต เพื่อการค้าเป็นอันดับรองลงมา รู้จักประมาณตนโดยใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ในการลงทุนประกอบอาชีพให้เป็นไปตามกำลังทรัพย์และศักยภาพของตนเอง เช่น
1.1 ปลูกผักสวนครัวลดค่าใช้จ่าย
1.2 นำน้ำที่ผ่านการใช้แล้วในครัวเรือนมารดพืชผักสวนครัว
1.3 นำพืชผักสวนครัวที่เพาะปลูกได้มาบริโภค แบ่งปันเพื่อนบ้าน บางส่วนนำไปขายที่ตลาด ส่วนที่เหลือนำไปเลี้ยงหมู
1.4 นำเงินจากการขายพืชผักสวนครัวและหมูไปซื้อสินค้าและบริการที่สมาชิกในครัวเรือนต้องการและมีความจำเป็นในการอุปโภคบริโภค
1.5 เก็บออมเงินส่วนที่เหลือจากการบริโภคไว้ใช้จ่ายในอนาคต
1.6 นำเงินส่วนหนึ่งมาลงทุนซื้อเมล็ดพืช เพื่อเพาะปลูกต่อไป
2. เลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความยั่งยืนสูงสุด โดยการนำทรัพยากรหรือวัสดุต่างๆ ที่สามารถหาได้ง่ายในชุมชนมาใช้ประโยชน์ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนอย่างคุ้มค่าด้วยการหมุนเวียนทุนธรรมชาติในพื้นที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมการผลิตได้ด้วยตนเอง ช่วยลดภาระการเสี่ยงด้านราคาจากการไม่สามารถควบคุมระบบตลาด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ทรัพยากร โดยคำนึงที่ไม่เป็นภัยกับสิ่งแวดล้อม เช่น
2.1 การทำไร่นาสวนผสมและการเกษตรผสมผสานเพื่อให้มีการหมุนเวียน มีสินค้าหลากหลาย ลดภาวะเสี่ยงด้านราคา
2.2 การจ้างแรงงานภายในชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ตนเอง ครอบครัว และชุมชนมีรายได้
2.3 การทำปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกและใช้วัสดุเหลือใช้เป็นปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย) เพื่อลดค่าใช้จ่ายและบำรุงดิน
2.4 การเพาะเห็ดฟางจากวัสดุเหลือใช้ในไร่นา
2.5 การปลูกไม้ผลสวนหลังบ้าน และไม้ใช้สอยในครัวเรือน
2.6 การปลูกพืชสมุนไพร ช่วยส่งเสริมสุขภาพอนามัย
16
2.7 การเลี้ยงปลาในร่องสวน ในนาข้าวและแหล่งน้ำ เพื่อเป็นอาหารโปรตีนและรายได้เสริม
2.8 การเลี้ยงไก่พื้นเมือง และไก่ไข่ ประมาณ 10 – 15 ตัวต่อครัวเรือนเพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน โดยใช้เศษอาหาร รำ และปลายข้าวจากผลผลิตการทำนา การเลี้ยงสัตว์จากการปลูกพืชไร่ เป็นต้น
2.9 การทำก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์

เรื่องที่ 2 หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการประกอบอาชีพ

จากพระราชดำรัส : เศรษฐกิจพอเพียง มิได้จำกัดเฉพาะของเกษตรกรหรือชาวไร่ชาวนาเพียงเท่านั้น แต่เป็นเศรษฐกิจของทุกคนทุกอาชีพ ทั้งที่อยู่ในเมืองและอยู่ในชนบท เช่น ผู้ที่ได้เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและบริษัทในระบบเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าจะต้องขยายกิจการเพราะความเจริญเติบโตจากเนื้อของงาน โดยอาศัยการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือหากจะกู้ยืมก็กระทำตามความเหมาะสม ไม่ใช่กู้มาลงทุนจนเกินตัวจนไม่เหลือที่มั่นให้ยืนอยู่ได้ เมื่อภาวะของเงินผันผวน ประชาชนก็จะต้องไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว และ (จากการศึกษารายงานการวิจัยศึกษาการประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนบ้านโงกน้ำ) นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในกระบวนการประกอบอาชีพของชุมชนบ้านโงกนํ้า ตำบลนาขยาด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง ของจังหวัดพัทลุง ในปี 2544 และเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในระดับครัวเรือน กลุ่มองค์กร และระดับหมู่บ้าน ได้ยึดหลักทางสายกลาง อันได้แก่ 3 ห่วงยึดเหนี่ยว และ2 ห่วงเงื่อนไขการปฏิบัติ โดยเสนอผลการวิคราะห์ในแต่ละด้านดังนี้
3 ห่วงยึดเหนี่ยว
1. ด้านความพอประมาณ
ชุมชนรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างพอเพียง เหมาะสมแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้เทคโนโลยีเท่าที่จำเป็น มีรายได้เสริมจากการปลูกผัก เลี้ยงสุกร เลี้ยงโค เลี้ยงปลาดุก ไว้จุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่ง สภาพเศรษฐกิจของครอบครัวเหมาะสมตามอัตภาพของตน
2. ด้านความมีเหตุผล
ใช้ทรัพยากรทุกชนิดอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุด เน้นการใช้วัตถุดิบภายในท้องถิ่นและตอบสนองตลาดในท้องถิ่น เน้นการจ้างงานเป็นหลัก โดยไม่นำเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน มีขนาดการผลิตที่สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการ เช่น ใช้พื้นที่ทางการเกษตรที่ว่างอยู่อย่างคุ้มค่า โดยการปลูกพืชผักสวนครัวข้างบ้าน พื้นที่สวนข้างบ้าน ตามสายรั้วบ้าน บางครอบครัว ก็ปลูกพืชผักและผลไม้ครบวงจรเพื่อลดค่าใช้จ่าย บางครอบครัวก็เลี้ยงโค เลี้ยงสุกร เลี้ยงปลาดุก กลุ่มอาชีพทำขนม เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือนจากอาชีพเสริม “ชาวบ้านโงกน้ำส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอยู่ในชุมชน ไม่ค่อยไปทำงานนอกหมู่บ้านและไม่ค่อยมีคนนอกมาค้าขายหรือประกอบอาชีพในหมู่บ้าน

3. ด้านความมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
เน้นการกระจายความเสี่ยงจากการมีผลผลิตหลากหลาย ไม่ก่อหนี้จนเกินความสามารถในความบริหารจัดการ มีการเปิดศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านขึ้นที่กลุ่มออมทรัพย์บ้านโงกนํ้า ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับคนในชุมชน และกลุ่มอาชีพต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการอย่างต่อเนื่อง มีการทำกลุ่มปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด ซึ่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีได้ค่อนข้างมาก การรวมกลุ่มทำปลาดุกร้าทำให้เพิ่มมูลค่าของปลาดุก และถนอมอาหารเก็บไว้รับประทานได้นานขึ้น นอกจากช่วยในด้าน การประกอบอาชีพหลักแล้ว ยังมีกลุ่มทำสบู่เหลว ยาสระผม ซึ่งก็ให้การสนับสนุน และมีส่วนร่วมอยู่เสมอ ในส่วนของข้อเสนอแนะนั้น ยังบอกว่า อยากให้หน่วยงานทางราชการเข้ามาส่งเสริม และให้ความรู้กับกลุ่มต่างๆ อย่างสมํ่าเสมอ และต่อเนื่อง และอยากให้มีกลุ่มอาชีพเสริมนี้ให้ความรู้ด้านอาชีพบางอย่าง เช่น การซ่อมรถ มอเตอร์ไซค์ การเย็บผ้า การเชื่อมโลหะ ช่างตัดผม เป็นต้น เพราะหลายคนอยากให้หน่วยงานทางราชการเข้ามาอบรมให้บ้าง เพื่อให้สามารถซ่อมแซมของตนเองได้และประกอบอาชีพเป็นธุรกิจ หรือกลุ่มของตนเอง เพื่อให้มีรายได้เสริมของครอบครัวด้วย
2 ห่วงเงื่อนไขการปฏิบัติ
1. เงื่อนไขความรู้
ในการประกอบอาชีพของคนในชุมชนบ้านโงกนํ้า มีความรอบคอบ มีความรู้ และมีความระมัดระวัง มีการทำแผนแม่บท การแบ่งงานความรับผิดชอบในแต่ละกลุ่ม รู้จักการอนุรักษ์ทั้ง สิ่งแวดล้อมและประเพณี รู้จักการฟื้นฟูสิ่งที่มีคุณค่าที่เคยหายไปแล้ว ให้กลับมาเป็นประโยชน์อีกครั้งหนึ่งตลอดจนมีการประยุกต์ภูมิปัญญาของการประกอบอาชีพ แบบดั้งเดิม นำมาบูรณาการกับเทคนิคและวิธีการของการประกอบอาชีพในสมัยปัจจุบัน แต่ทั้งนี้การส่งเสริมการให้ความรู้ก็ต้องทำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ตลอดจนให้เกิดความทั่วถึงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายส่วนบุคคลและของแต่ละกลุ่มอาชีพต่างๆ ตลอดจนให้สอดคล้องกับกระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง และความต้องการของผู้รับสินค้าและผู้รับบริการให้มากขึ้น ท้ายที่สุดคือ การส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาสูงสุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เขาเหล่านั้นกลับมาพัฒนาบ้านเกิดภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หัวหน้าครอบครัวส่วนใหญ่ ได้อธิบายให้ทราบว่า การประกอบอาชีพซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาชีพเกษตรกรรมนั้น มีการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นปู่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ มายังรุ่นลูก และหลานไปตลอด ส่วนใหญ่แล้วเป็นการให้ความรู้จากการได้ลงมือปฏิบัติร่วมกัน เช่น เมื่อไปปลูกยางก็จะพาลูกหลานไปด้วย ในขณะที่ไปช่วยเป็นการให้เขาได้มีส่วน ร่วม โดยการสอน แนะนำ ให้ลูกหลานได้เห็น การเลี้ยงสุกรก็เช่นกัน และอื่นๆ ก็เป็นลักษณะนี้ ถามมาให้ทางราชการนำความรู้มาให้ก็นานๆ มาครั้ง แต่ก็ต้องเป็นหมู่บ้าน แต่ก็ถือว่าเป็นหมู่บ้านที่โชคดีที่มีประชากร ชาวบ้าน ที่เป็นแหล่งให้ความรู้ได้ค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าคนรุ่นใหม่จะไม่เรียนนอกบ้านมากขึ้น แต่ท่านก็รวบรวมความรู้ และวัสดุอุปกรณ์ในการทำมาหากินหรือประกอบอาชีพให้เห็น

2. เงื่อนไขคุณธรรม
มีความซื่อสัตย์ในการประกอบการไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคและไม่เอารัดเอาเปรียบแรงงานลูกค้า มีความขยันอดทน การประกอบอาชีพของชุมชนบ้านโงกน้ำส่วนใหญ่แล้ว เป็นคนที่มีความซื่อสัตย์์ในการประกอบอาชีพของตนเอง มีความขยัน อดทน มีการแบ่งปันระหว่างครัวเรือน หัวหน้าครอบครัวที่มีอาชีพการทำสวนยางพารา มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองในการขายผลผลิตจากยางพาราที่เป็นนํ้ายางมีคุณภาพ ไม่มีการใส่น้ำและสิ่งแปลกปลอม มีความตระหนักในการเพาะปลูก โดยพยายามหลีกเลี่ยงในการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช หันมาใช้สารกำจัดแมลงในธรรมชาติแทน ปุ๋ยที่ใช้ส่วนใหญ่ก็ใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ที่ผลิตขึ้นมาเอง หรือใช้มูลปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกในครัวเรือนเอง และยังผลไปถึงผู้ที่ซื้อไปบริโภค
ส่วนการเลี้ยงสัตว์ก็ใช้อาหารสัตว์จากธรรมชาติที่มีหรือเพาะปลูกเอง เช่น หญ้าที่ใช้เลี้ยงโค เพาะอาหารสุกรที่เหลือจากเศษอาหาร และอาหารจากพืชผัก พืชธรรมชาติที่หาได้เอง หลีกเลี่ยงการใช้สารเร่งเนื้อแดง เวลาส่วนใหญ่ใช้ไปในการทำมาหาเลี้ยงครัว ให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมห่างไกลยาเสพติด ถึงแม้ว่าหมู่บ้านโงกนํ้าจะเป็นชุมชนปลอดยาเสพติดก็ตาม ซึ่งในขณะนี้ได้ทำงานร่วมกัน และมีการสอนคุณธรรมกับครอบครัวด้วย
กิจกรรมที่ 2
แบ่งกลุ่มผู้เรียนตามความสนใจ กลุ่มละ 5 คน แล้วดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ในแต่ละกลุ่มระดมความคิด ในประเด็น “การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้กับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของตนเอง ครอบคัว ชุมชน” แล้วเลือกนำเสนอเพียงหัวข้อเดียวว่า กลุ่มของตนสามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในจัดสรรทรัพยากรอย่างไร เช่น การประหยัดค่าใช้จ่าย การพึ่งตนเอง ความมีเหตุผล มีภูมิค้มกัน ความรู้ และคุณธรรม เป็นต้น
2. ให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มเสนอแนวทางการเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวันหน้าชั้นเรียน กลุ่มละ 3 – 5 นาที โดยให้ผู้เรียนและผู้สอนร่วมประเมิน แนวทางการเผยแพร่ฯ ว่า เหมาะสมหรือควรแก้ไขอย่างไร เช่น การเผยแพร่โดยใช้ป้ายโปสเตอร์ แผ่นพับ และการประชาสัมพันธ์ทาง Internet เป็นต้น
3. ผู้เรียนแต่ละกลุ่มนำแนวทางการเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต ไปเผยแพร่ในสถานศึกษาและชุมชนใกล้สถานศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น